‘คุณหญิงโค้ดดิ้ง’ เปิดงาน “Worlddidac Asia 2019 & Asia Didac Forum”
รมช.ศธ. ‘คุณหญิงโค้ดดิ้ง’ เปิดงาน “Worlddidac Asia 2019 & Asia Didac Forum” ย้ำครูต้องสร้างบรรยากาศการเรียนที่สนุก เพราะหากเด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้ ยากแค่ไหนก็เรียนได้ (9 ตุลาคม 2562) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “Worlddidac Asia 2019 & Asia Didac Forum” นิทรรศการการสื่อการสอนใหม่และการประชุมผู้นำทางการศึกษา ระหว่างวันที่ 9- 11 ตุลาคม 2562 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ยุคแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ ดร.สตีฟ แมคคี ประธานคณะกรรมการการจัดงานและประธานสมาคมเวิลด์ไดแด็คสวิสเซอร์แลนค์ กล่าวว่า การจัดงาน “Worlddidac Asia” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีย์งานWorlddidac ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อยกระดับการศึกษาระดับอาเซียน และเป็นงานแสดงนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนสำหรับวงการการศึกษาทุกระดับชั้นจากนานาประเทศ โดยภายในงานได้มีการจัดส่วนการแสดงอุปกรณ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนจากนานาประทศ เช่น เยอรมนี เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฟินแลนด์ และประเทศในอาเซียน จากการสนับสนุนของบริษัทต่าง ๆ มากกว่า 200 แห่ง ซึ่งจัดพร้อมกับการประชุมสัมมนาวิชาการ “Asia Didac Forum” โดยวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษาชั้นนำจากนานาประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงส่วนอื่น ๆ อาทิ ดิจิทัลเวิร์คช็อป (Digital Workshop) โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรด้านดิจิทัลชั้นนำ, สะเต็มคอนเน็กซ์เวิร์คช็อป (STEM Connex Workshop) โดยคุณครูสะเต็มดีเด่นและการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับเยาวชนนานาชาติ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานร่วมกัน อันเป็นทักษะที่สำคัญในยุคแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายในงานยังมีการจัดแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในระดับอาชีวศึกษาและอุคมศึกษา ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อแปรโจทย์จากห้องเรียนให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 มากที่สุด ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วนมีความตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาอย่างมาก การจัดงานครั้งนี้นับว่าเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้หลากหลายแง่มุมของนักการศึกษาจากหลายประเทศ ซึ่งรากฐานการศึกษาที่สำคัญ คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็กกับผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ร่วมกัน และผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาด้วยค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาลที่ยึดมั่นว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนจำเป็นต้องมีความสามารถทัดเทียมกัน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่หวังไว้ ทั้งนี้นักการศึกษาทุกฝ่าย ทั้งครู ผอ.โรงเรียน ผู้บริหาร ผู้ตรวจราชการ ผู้ปกครอง จะต้องเข้าใจบทบาทของตนในยุคดิจิทัลให้ได้ ซึ่งการทำหน้าที่ในฐานะนักการศึกษาถือเป็นบทบาทที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยเตรียมปรับตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ศธ.ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงต้องสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เข้มแข็ง พร้อมก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมีศักดิ์ศรีและภาคภูมิใจ รมช.ศึกษาธิการ ได้ยกคำกล่าวของชาวจีนว่า “ปลูกต้นไม้ต้องใช้เวลา 10 ปี ปลูกคนต้องใช้เวลา 100 ปี” ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศจึงต้องเริ่มสร้างทักษะที่เหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กเล็กอายุ 2 ขวบ โดย ศธ.ได้ออกประกาศ เรื่อง นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในส่วนของการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ รวมถึงเน้นการบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน ซึ่งได้มอบนโยบายให้ครูสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนทั้งในและนอกห้องเรียนเอื้อต่อการเรียนรู้ตามบริบทและความต้องการของนักเรียน เน้นให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจด้วยความสนุก พร้อมย้ำว่า “หากเด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้ ยากแค่ไหนก็เรียนได้” ทั้งนี้ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และสังคม ต้องคิดไปในทางเดียวกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กได้เรียนสิ่งที่อยากเรียนอย่างสนุก โดยทาง ศธ.จะสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ แพลตฟอร์มดิจิทัล อย่างเต็มความสามารถ เน้นการเรียนรู้โดยปฏิบัติจริง (Hands On Learning) ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมความเป็นไทย วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ คุณธรรมจริยธรรมอันดีงามเพื่อสร้างคนไทยที่สมบูรณ์เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข และตอบแทนคุณแผ่นดิน รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันได้ผลักดันให้รัฐบาลบรรจุหลักสูตรการศึกษาทักษะ “Unplug Coding” ให้เด็กเล็ก ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มากมาย แต่ใช้การสอนให้เด็กคิดเป็น วางแผนเป็นขั้นตอน แก้ปัญหาด้วยเหตุผล สร้างสรรค์ กล้าตัดสินใจ นำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ตามช่วงวัย โดย ศธ.ได้เริ่มนำร่องอบรมครูผู้สอนวิชาวิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้งจำนวนกว่า 1,000 คน พร้อมเริ่มสอนในเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย “ทักษะ Coding สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน ดังคำว่า Coding for All, All for Coding” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป |
ข่าว ศธ. 360 องศา