กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม

เมื่อวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2561 ณ WECOSYSTEM อาคารเกษร ทาวเวอร์ – ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือแนวทางในการจัดการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อยกระดับการผลิตกำลังคนระดับบัณฑิตนักปฏิบัติ ให้สามารถสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการอุดมศึกษา ตลอดจนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 จึงมอบให้มีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีประจำสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปรับแนวทางการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาครั้งใหญ่ โดยรวมการศึกษาระดับอุดมศึกษา การวิจัย การสร้างนวัตกรรม และงานด้านวิทยาศาสตร์ไว้ด้วยกัน และให้เร่งดำเนินงานตามกรอบเวลาเดิม เพื่อให้สามารถนำเสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคม และกฎหมายคลอดออกมาภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่กำหนด

ซึ่งแน่นอนว่า สถาบันอุดมศึกษาคงจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินงานในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นชื่อของกระทรวงใหม่, แนวคิดในการตั้งกระทรวงใหม่ ซึ่งเดิมมีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปอุดมศึกษาให้มีความอิสระและคล่องตัวมากขึ้น แต่ขณะนี้กลับนำมารวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานด้านการวิจัย อาจจะทำให้มีขนาดใหญ่และไม่คล่องตัวเช่นเดิมนั้น โดยส่วนตัวมองว่าการทำงานทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนและบูรณาการให้เกิดความเชื่อมโยงกันได้ และเชื่อว่าการศึกษามีความเกี่ยวข้องกับทุกศาสตร์ ตลอดจนเป็นบทบาทโดยตรงของสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ สามารถสร้างองค์ความรู้และงานวิจัยเพื่อต่อยอดนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจของ Thailand 4.0 ด้วย

ในส่วนของอุดมศึกษาได้มีความพยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งเชิงการปฏิรูปโครงสร้าง การปรับกระบวนการทำงานด้วยแพลทฟอร์มใหม่ ๆ ที่จะช่วยพลิกโฉมการทำงานให้สอดรับกับบทบาทและภารกิจที่มีพลวัตรสูงขึ้น แม้บางอย่างอาจยังไม่สามารถปรับได้ทันทีทันใด แต่เชื่อว่าทุกสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อจากนี้ คือการวางกลไกในแนวราบ เพื่อช่วยให้การทำงานเกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่เกิดจากศาสตร์และองค์ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งมีการตั้งคณะทำงานต่าง ๆ โดยมีผู้แทนจากหลายฝ่ายเข้ามาร่วมด้วย


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่านโยบายรัฐบาลต้องการให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างงานอุดมศึกษา การวิจัย และวิทยาศาสตร์ โดยเชื่อว่าทาง ทปอ.มทร. มีความเข้าใจในที่มาและหลักการตรงนี้อยู่แล้ว ในการหารือร่วมกันครั้งนี้ จึงขอฝากให้ช่วยพิจารณาถึงจุดเน้นและทิศทางในการผลิตกำลังคนที่เรียกกันว่า “บัณฑิตนักปฏิบัติ” ด้วยว่า ในอนาคตต้องการจะผลิตกำลังคนแบบไหนเพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 ไม่ว่าจะเป็น นักนวัตกร หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อดำเนินงานมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนต่อไป


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า เพราะเป็นแหล่งสร้างกำลังคนให้มีศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันและตลาดโลก เพียงแต่เราต้องเร่งก้าวข้ามอุปสรรคด้านโครงสร้างที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างงานวิจัยที่มีความโดดเด่น การพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อยกระดับผลการจัดอันดับทางการศึกษาให้ทัดเทียมนานาประเทศ ตลอดจนเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและสร้าง Start up ใหม่ ๆ ที่จะสร้างจุดเปลี่ยนในการความสามารถทางการแข่งขันในยุค 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ทั้งนี้ ในส่วนของการออกกฎหมายหลักทั้ง 3 ฉบับ เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด โดยคาดว่ากฎหมายปรับปรุงโครงสร้างและด้านการวิจัยจะมีความชัดเจนมากขึ้น ภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ และเชื่อว่าการดำเนินงานครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญของประเทศไทยและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่รอคอยการปฏิรูปให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

ในส่วนของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มีความเห็นด้วยกับการรวมกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม และยินดีที่จะผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติเป็นฐานในการขับเคลื่อนโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาประเทศและแข่งขันได้ในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังได้เสนอข้อคิดเห็นที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ การกำหนดเป้าหมายการจัดการอุดมศึกษาอย่างชัดเจน, กระทรวงใหม่จะต้องเน้นความคล่องตัวในการบริหารงานและการวิจัย โดยอาจใช้รูปแบบภาคเอกชน เพื่อพลิกกรอบแนวคิดการทำงานให้แตกต่างไปจากเดิม ตลอดจนมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งบุคลากร นักศึกษา หลักสูตร และให้มีการเทียบโอนระหว่างหลักสูตร เพื่อสร้างความแตกต่างของสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในสายบัณฑิตนักปฏิบัติหรือสายอาชีวศึกษา ควรบูรณาการการเรียนการสอนระหว่าง มทร. ให้นักศึกษาสามารถเรียนข้าม มทร. ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นและความเชี่ยวชาญแตกต่างกันในแต่ละสาขา

นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดโจทย์ให้มหาวิทยาลัยศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ จากนั้นนำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ที่จะส่งผลต่อรายได้ของคนในชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร