เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) จัดเสวนาเรื่อง “กระทรวงใหม่ : โอกาสและความท้าทาย สำหรับมหาวิทยาลัย” เมื่อวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเสวนา และมีผู้สนใจจากหลากหลายสถาบันการศึกษาเข้าร่วมรับฟัง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำเสนอแนวคิดและความคืบหน้าการจัดตั้งกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Thailand 4.0 ผ่านกระบวนการทางเศรษฐกิจ สังคม และนวัตกรรม พร้อมทั้งเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยที่สถาบันอุดมศึกษาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคน เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยผู้คนที่มีความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ
การจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง เนื่องจากจะมีความเป็นราชการน้อยลง หลุดพ้นจากการติดกับดักของการบริหารจัดการทั่วไปของระบบราชการ และตอบโจทย์ประเทศมากขึ้น โดยจะมีการปลดล็อคกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถทำงานวิจัยและใช้ประโยชน์จากการวิจัยได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการปฏิรูปเรื่องงบประมาณการวิจัย เป็นต้น
โดย RUN รวมทั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และ วท. จะได้หารือเกี่ยวกับรายละเอียดการวิจัยที่จะเป็นตัวชี้นำอนาคตของประเทศอีกครั้ง ดังนั้น การเสวนาในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ได้มีโอกาสมาพบปะและหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยมั่นใจว่าจะสามารถจัดตั้งกระทรวงใหม่ได้ทันในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามขั้นตอนของกฎหมาย

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า การจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมนั้น มีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบงบประมาณด้วยเพื่อให้การดำเนินงานตอบโจทย์อนาคตข้างหน้า หากมหาวิทยาลัยยังดำเนินการเช่นเดิม อาทิ เปิดสอนในหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตออกมาแล้วไม่มีงานทำ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น ดังนั้น หลักสูตรที่มีบัณฑิตตกงานจำนวนมากจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณน้อยลง
สำหรับสัดส่วนการเปิดสอนหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่สังคมศาสตร์ 70% และวิทยาศาสตร์ 30% ในขณะที่ประเทศต้องการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ แต่เราก็ต้องไม่ทิ้งสังคมศาสตร์ เพราะสังคมศาสตร์เป็นพื้นฐานที่สำคัญในทุก ๆ ด้าน เพียงแต่ต้องการให้ผลิตน้อยลง เพราะขณะนี้มีจำนวนบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ล้นประเทศ ในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้อัตราส่วนของผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศ
ในส่วนของความร่วมมือระหว่างสภาวิชาชีพและสถาบันอุดมศึกษานั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยทั้งสภาวิชาชีพและสถาบันอุดมศึกษา ควรมีหารือแนวทางและปรับมุมมองการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตเป็นสำคัญ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงานเหมือนในอดีต ซึ่งถือเป็นมุมมองแบบเดิมที่ไม่มีการคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น


Written by ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี, อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร