กศน.จัดอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดโครงการอบรม “ประวัติศาสตร์ชาติไทยและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย” เมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมบางกอกพาเลส โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบพิธีถวายราชสักการะ กล่าวบทอาศิรวาทถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และเป็นประธานเปิดการอบรม พร้อมทั้งบรรยายพิเศษเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อปลูกจิตสำนึกความรักชาติ ศรัทธายึดมั่นในศาสนา เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้แก่ผู้บริหารสำนักงาน กศน. ส่วนกลาง, สำนักงาน กศน.จังหวัด, สถานศึกษาขึ้นตรง และผู้บริหารระดับอำเภอในทุกจังหวัดทั่วประเทศที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้จำนวน 550 คน



ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการมุ่งดำเนินงานเพื่อจัดการศึกษาเรียนรู้แก่ผู้เรียนและประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 เพื่อต้องการให้เป็นทั้งผู้ที่มีความรู้ มีคุณธรรม มีทักษะในการใช้ชีวิต และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งการจัดโครงการอบรมครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเป็นพลเมือง หน้าที่พลเมือง ที่เน้นความรับผิดชอบ เน้นความรู้รักสามัคคี รู้ความเป็นมาเป็นไป รู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่จะช่วยสร้างความรักชาติ ศาสนา และบูรพมหากษัตริย์ที่ได้สละเลือดเนื้อเพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยให้เราได้อยู่มาจนทุกวันนี้ ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย ให้ได้อยู่ดีมีความสุข


จึงขอให้ทุกคนช่วยกันขยายผลโครงการอบรมเช่นนี้ในวงกว้างมากขึ้น เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ถูกต้องไปสู่เด็กและเยาวชน ได้รับรู้ที่มาที่ไป ได้รับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ต่อแผ่นดินไทย สามารถเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้อง เกิดความรัก หวงแหนความเป็นชาติ และสามารถดำรงรักษาความเป็นชาติไทยไว้ในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของประชาชน นอกจากจะต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีศักยภาพ อยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย พระราชกรณียกิจนานัปการของพระมหากษัตริย์ไทยเพื่อให้พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข


ดังนั้น ผู้เข้าร่วมอบรมควรน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ตลอดจนหลักการทรงงาน ไปปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ตลอดจนถ่ายทอดให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสู่รุ่นลูกหลานสืบไป เช่น



“เราทั้งหลายเฉพาะได้เกิดมาในประเทศนี้รวมกันแล้ว บางคนก็ต้องอยู่ในตำแหน่งอันใหญ่ บางคนก็อยู่ในตำแหน่งอันน้อย แต่แม้ว่าจะมียศตำแหน่งแปลกกันในระหว่างพวกเราฉันใดก็ดี ก็ยังมีหน้าที่อันหนึ่งซึ่งเราทั้งหลายย่อมมีอยู่เหมือนกันหมด คือ ว่ามีหน้าที่ที่จะต้องมีรักซึ่งกันและกัน แลจะต้องกระทำการตามกำลังของตนที่จะกระทำได้เพื่อให้บ้านเมืองของเรามีความสุข รุ่งเรืองขึ้น” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


“…ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง
สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่เป็นอิสระ และเจริญมั่นคงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตราบใดที่เราทั้งหลายรักษาความเป็นไทยนี้ไว้ได้ ชาติบ้านเมืองก็จะดำรงมั่นคงอยู่ตราบนั้น ความเป็นไทย จึงเป็นสมบัติล้ำค่าที่ชาวเราต้องถนอมรักษาไว้เป็นนิตย์ต่อไป…”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช

“เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา เป็นหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นบันได 3 ขั้นสู่ความสำเร็จ กล่าวคือเข้าใจ ต้องเกิดความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐาน ด้วยการศึกษาข้อมูลทุกมิติ ค้นหารากของปัญหา และรวบรวมองค์ความรู้ของโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ, เข้าถึง เน้นเรื่องการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมในการกระบวนการการพัฒนามากที่สุด พร้อมร่วมกันวิเคราะห์ ปัญหาและความต้องการของชุมชน, การพัฒนา เป็นเรื่องของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน สร้างทีมพี่เลี้ยง การออกแบบหลักสูตรและเมนูการพัฒนา การศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติของชุมชน รวมทั้งการให้ทีมพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในชุมชน และติดตามสนับสนุนประเมินผล”


ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริหารสำนักงาน กศน. ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้เกี่ยวข้อง เป็น IDOL หรือเป็นต้นแบบที่ดีในการทำงานเพื่อประชาชน มีความติดดิน เข้าถึงได้ง่าย ไม่ถือเนื้อถือตัว และไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง ดั่งคำสอนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ว่า “ข้าราชการมิใช่อภิสิทธิ์ชน หากแต่จะต้องบำเพ็ญตน ให้เป็นแบบอย่างของคนดีแก่สังคม” นอกจากนี้ต้องเป็นกำลังใจให้กับประชาชนด้วย เพราะในยามนี้บ้านเมืองยังเต็มไปด้วยความเศร้าโศก และทุกคนก็ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ขอให้ร่วมมือกันแปลงความโศกเศร้าให้เป็นแรงใจ ร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อดำรงรักษาประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่ง เพื่อลูกหลานของเรา และเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป


นอกจากนี้ ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวขอความร่วมมือในการผลักดันวาระสำคัญอันดับแรกในช่วงเปิดภาคเรียนปี 2560 คือโครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่จะต้องให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา 30,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมอบให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ หยิบยกวาระด้านการศึกษาขึ้นมา เพื่อร่วมกันตรวจราชการ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งจุดมุ่งหมายมิได้เป็นการจับผิดแต่อย่างใด หากแต่เป็นการช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการประเมินผล ให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในแต่ละพื้นที่



นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. กล่าวถึงโครงการอบรมในครั้งนี้ว่า จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน กศน. ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้แก่ผู้ด้อย ผู้พลาด และผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา ทั้งเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยตระหนักถึงความสำคัญในการที่จะใช้การศึกษาและการเรียนรู้ เป็นกระบวนการสร้างระบบความรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปขยายผลให้แก่ผู้เรียน กศน. เยาวชน และประชาชนทั่วไป ในการสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง และเข้าใจในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์และประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อย่างถูกต้อง


โดยกำหนดจัดโครงการครั้งแรก ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 550 คน เป็นผู้บริหารสำนักงาน กศน.จากส่วนกลาง สำนักงาน กศน.จังหวัด สถานศึกษาขึ้นตรง และผู้บริหารระดับอำเภอบางส่วนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2560 จะขยายผลการอบรมไปยังครู กศน.ตำบลในพื้นที่ต่อไป


ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก กอ.รมน. ในการสนับสนุนวิทยากร เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ให้มีความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ได้แก่ นายหมวดเอก ธารณา คชเสนี และว่าที่ร้อยตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ โดยคาดว่าผู้เข้าอบรมจะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไปดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สำหรับผู้เรียน และประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป




นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
1/5/2560