กศ.TH-AUS

ความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ออสเตรเลีย

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา กับนายพอล โรบิลลียาร์ด เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ที่อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ



รมช.ศึกษาฺธิการ
กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ที่ออสเตรเลียประมาณ 30,000 คน ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของเยาวชนออสเตรเลียในการเดินทางมาศึกษาต่อ ดังนั้น การพบปะกับเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทยในครั้งนี้ ได้หารือแนวทางความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและออสเตรเลียใน 3 ประเด็นหลัก คือ
– การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทย: เนื่องจากทักษะภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับการสื่อสาร ค้นคว้าหาความรู้ และการเรียนรู้ จึงต้องการจะส่งเสริมทักษะและศักยภาพของเด็กไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสาร แม้เด็กไทยจะมีความสามารถด้านวิชาการ แต่หากไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้ ก็จะทำให้ความเก่งหายไปเกินครึ่ง และเท่าที่ทราบออสเตรเลียก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ หากจะมีการส่งเสริมและขยายความร่วมมือด้านภาษาอังกฤษร่วมกันอย่างเป็นระบบ ก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง
– การพัฒนามาตรฐานคุณภาพอาชีวศึกษา: ศธ.มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมามีต้นแบบความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างไทย-เยอรมนี และไทย-ญี่ปุ่น แล้ว หากเป็นไปได้ต้องการขยายความร่วมมือกับออสเตรเลียด้วย เพราะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีมาตรฐานด้านอาชีวศึกษาที่เข้มแข็ง เพื่อไทยจะได้ศึกษาและนำมาปรับใช้เป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาของไทยต่อไป
– การปฏิรูปการศึกษาภาพรวม: ขณะนี้ระบบการเรียนการสอนไทยยังสอนให้เด็กท่องจำเป็นหลัก ทำให้ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์และไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้  ดังนั้น หากออสเตรเลียซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีในระดับโลก จะเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนการปรับมาตรฐานการศึกษาของไทยอย่างเป็นระบบ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ไม่ว่าจะเป็น การส่งบุคลากรมาฝึกอบรมครู การสร้างแรงบันดาลใจ เทคนิคการสอนคิดวิเคราะห์ การสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นต้น โดยอาจเริ่มจากการประชุมหารือระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับหน่วยงานของไทย การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อศึกษาเรียนรู้วิธีการดำเนินงานที่ดีและประสบความสำเร็จ ก็จะเกิดประโยชน์กับการศึกษาไทยอย่างมาก

นอกจากนี้ ได้หารือถึงระบบการประกันคุณภาพในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งออสเตรเลียมีหน่วยงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีชื่อเสียงคือ “Tertiary Education Quality and Standard Agency (TEQSA)” จึงต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้จากต้นแบบการประกันคุณภาพที่ดี เพื่อนำมาต่อยอดและขยายผลกับสถานศึกษาของตนเอง ในขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา กับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสถาบันอุดมศึกษาไทยด้วย

นายพอล โรบิลลียาร์ด เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ออสเตรเลียและไทยมีความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ New Colombo Plan ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาไทยจำนวนมากไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย ในขณะเดียวกันในปี 2561 จะมีนักเรียนนักศึกษาจากออสเตรเลียประมาณ 500 คน เดินทางมาศึกษาเรียนรู้ที่ประเทศไทยภายใต้โครงการดังกล่าวด้วย 

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยินดีที่จะสานต่อและขยายความร่วมมือด้านการศึกษากับไทยในด้านต่าง ๆ เช่น การเพิ่มจำนวนนักเรียนนักศึกษาของออสเตรเลียที่จะเข้ามาศึกษาต่อในไทย, การพัฒนาและปฏิรูประบบการศึกษา ที่จะมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ, การส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา ซึ่งออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเข้มแข็งในเรื่องนี้, การพัฒนาคุณภาพการอุดมศึกษา อาทิ การพัฒนาหลักสูตร ทักษะการสอน การวิจัย เป็นต้น โดยจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) กับบุคลากรของไทยบนพื้นฐานความต้องการของระบบการศึกษาไทยเป็นหลัก 

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
24/1/2561