การประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาภาคเหนือ ของกระทรวงศึกษาธิการ

พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค(ภาคเหนือ) ของกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้บริหารองค์กรหลัก ศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมกว่า 300 คน

 

 

กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ เป็น 6 ภาค

พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ( พ.ศ.2560-2564) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการเสริมจุดเด่นในระดับภาคและจังหวัดเพื่อยกระดับการผลิต และบริการเดิมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และการขยายฐานใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดแนวทางเป็น 6 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน และการศึกษาจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าว 

 

 

 

การวางแผนขับเคลื่อนจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษ ของ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงศึกษาธิการ โดย พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการวางแผนขับเคลื่อนจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษต่าง ๆ ของประเทศให้เกิดผลในทางปฏิบัติในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษ ซึ่งหมายถึงพื้นที่จังหวัดชายแดน 27 จังหวัด, พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรอบประเทศ 10 พื้นที่, การพัฒนา 3 เมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านได้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลเป็นรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดให้มีการประชุมเพื่อทบทวนการจัดทำแผนบูรณาการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษต่าง ๆ ดังกล่าวให้เกิดผลในทางปฏิบัติของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่ จ.ชลบุรี โดยนายกรัฐมนตรี มารับฟังผลการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการและให้นโยบายด้านการศึกษา พร้อมทั้งให้มีการขยายผลการทำงานการวางแผนการศึกษาในพื้นที่พิเศษออกไปในระดับทุกภูมิภาคของประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ของกระทรวงศึกษาธิการขึ้น

 

 

การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ  เน้น”กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างสมดุล”

พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวต่อไปว่า การทำงานในระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการ จะผ่านทาง กศจ.เป็นหลัก โดยเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งนี้ การจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ 9 คือ การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ “กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างสมดุล” โดยการจัดทำแผนพัฒนาภาคเหนือในภาพรวมเน้นให้ภาคเหนือเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ มีนวัตกรรมเกษตรและอาหารสุขภาพ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน +3

 

 

ฝากหลักคิดการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตามในการจัดทำแผนต้องทำให้ดีและครอบคลุมสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จนเกิดผลสำเร็จอย่างแท้จริง โดยยึดหลัก

                คิดให้ครบ

                ทบทวนเป็นห้วงๆ

                ห่วง (ห่วงใย) การรับรู้

                สู่การบูรณาการ
             
สืบสานศาสตร์พระราชา

                เพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน

 

 

อิชยา/สรุป

ธเนศ/ภาพ

กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.