การประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐

ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ โดยมีนพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

                    การประชุมครั้งนี้ มีเรื่องแจ้งเพื่อทราบ ๒ เรื่องคือ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ และ การประกาศเกียรติคุณเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์ เปีย มากุล) บุคคลสำคัญของโลก (๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐) นอกจากนี้ที่ประชุมยังร่วมกันพิจารณา ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. …

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมาและแนวความคิดในการปรับปรุงการประกันคุณภาพแบบใหม่ โดยจะเน้นการประเมินเชิงคุณภาพ เพราะได้รับเสียงสะท้อนจากผู้รับการประเมินว่า เป็นภาระในการทำเอกสาร มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ การใช้ประโยชน์จากผลการประเมิน การประเมินยังไม่ลงตัวจึงต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงนำมาหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและนำไปดำเนินการแก้ไขให้มั่นคงยั่งยืน จึงจำเป็นต้องแก้กฎกระทรวง โดยนำการประกันคุณภาพระดับสากล มาพิจารณาเพื่อทำกรอบการประเมิน ที่ผ่านมาการประกันคุณภาพภายในระหว่างต้นสังกัดกับสถานศึกษา การประเมินภายนอกโดย สมศ. แนวทางใหม่จะเปลี่ยนบทบาทต้นสังกัดจากหน่วยงานภายในเป็นบทบาทช่วยเหลือส่งเสริมสถานศึกษา ส่วน สมศ. ยังประเมินภายนอกเหมือนเดิม ส่วนในเรื่องของมาตรฐานทางการศึกษา ที่ผ่านมาใช้ของ สมศ. เป็นหลัก แนวคิดใหม่จะคิดแบบสากล ตัวหลักคือสถานศึกษา โดยมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ จะให้สถานศึกษาไปกำหนดตัวชี้วัดเอง เน้นเชิงคุณภาพ ผู้ประเมินคือผู้เชี่ยวชาญไปแนะนำเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น

                   ทางด้านนายนาวิน วิยาภรณ์ รักษาการณ์ผู้อำนวยการสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ที่ปรับปรุงการประเมินนั้นเพื่อให้สะดวกทั้ง ๒ ฝ่ายในการทำงานร่วมกัน ต่างกันที่สถานศึกษาคุณภาพจะเกิดในห้องเรียน ภายใต้ครูและศึกษานิเทศก์ และการสนับสนุนของต้นสังกัด ส่วนมาตรฐานการศึกษานั้น ใช้เป็นหลักเทียบเคียงคือการประเมินต้องคำนึงถึงมาตรฐานการศึกษาชาติ เตรียมเข้าสู่สากล สาระสำคัญจะสอดคล้องกัน เมื่อครบรอบจะนำไปประเมินคุณภาพภายนอก เพื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมาย และสากลแล้วเป็นอย่างไรจะยกระดับหรือช่วยเหลือกันอย่างไรได้บ้าง ขึ้นอยู่กับการเรียนการสอน ภายใต้การสนับสนุนของต้นสังกัดและรัฐบาล ซึ่งกฎกระทรวงเดิมไม่ได้ระบุไว้ อาทิ ระบุความช่วยเหลือผู้เรียน การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเชื่อมโยงกัน ซึ่งแนวทางใหม่จะกำหนดไว้ทุกสถานศึกษา ทุกประเภท สามารถนำไปใช้ ในการประกันคุณภาพการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอนของครู ได้เลย

อุษา/ข่าว

ธเนศ/ภาพ

กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.