สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมวิชาการเรื่อง “การจัดการศึกษาเพื่อนำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” โดยได้รับเกียรติจาก
ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ก้าวข้ามประเทศที่มีฐานะประเทศรายได้ปานกลางได้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ” เป็นกำลังคน 4.0 ที่สามารถสร้างนวัตกรรมและผลิตสินค้าด้วยตนเอง เน้นการพึ่งพาตนเอง และลดการนำเข้า เพื่อไม่ให้รายได้ไหลออกนอกประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทั้งด้านงานด้านอื่น ๆ อย่างสอดคล้องเชื่อมโยง และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
ต้องยอมรับว่านวัตกรรมส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70-80 ได้รับการคิดค้นและสร้างขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการอุดมศึกษา จนเป็นที่มาของการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษา และรวมเข้ากับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำวิทยาศาสตร์มาใช้เกิดประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ตลอดจนหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย เพื่อเชื่อมโยงการทำงานเป็นกระทรวงเดียวกันอย่างครบวงจรและมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การอุดมศึกษาไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้เพียงลำพัง แต่ต้องเชื่อมโยงการศึกษาทั้งระบบ ด้วยการสร้าง “เมล็ดพันธุ์ที่ดี” ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ต่อยอดในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษา โดยการสร้างเด็กให้มีทั้งคุณภาพและศักยภาพตามลำดับขั้น ด้วยการส่งต่อองค์ความรู้ที่ทันสมัย ที่เด็กจะสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม มีความเป็นผู้นำ และสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้
นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับ “Soft Skills” อาทิ ความมีระเบียบวินัย การเสียสละและทำเพื่อส่วนรวม การรู้จักความพอเพียง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อส่งต่อทักษะในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนในท้ายที่สุด การอุดมศึกษาจะเป็นปลายน้ำ ที่ช่วยสร้างบัณฑิตให้มีคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรมฐานองค์ความรู้ ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางได้ในอนาคต
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศมีเป้าหมายในการยกระดับรายได้ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งในเรื่องของความมั่งคั่งนั้น มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ให้ประเทศ สกศ.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนโยบายการศึกษาของประเทศ จัดทำแผนการศึกษาชาติเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน และดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศเป็นหลัก พร้อมคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านองค์ความรู้ วิทยาการ ศาสตร์ใหม่ ๆ ตลอดจนทักษะและวิชาชีพที่เป็นความต้องการของโลกในอนาคต โดยสิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนไม่ตกงาน คือ “การสร้างคนที่มีคุณภาพและศักยภาพชั้นสูง” ที่มีทักษะและสมรรถนะสอดคล้องหรือปรับตัวกับอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้