ก้าวสู่ปีที่ 2 ครูกัลยา ภายใต้แนวทาง “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2563 เวลา 16.00 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าว ก้าวสู่ปีที่ 2 ครูกัลยา ภายใต้แนวทาง “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษา และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะทำงานติดตามแผนงานและงบประมาณช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายคมสัน โพธิ์คง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูง ศธ. และสื่อมวลชน เข้าร่วม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ภายใต้นโยบายหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ โค้ดดิ้ง (Coding) การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย และอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง
สำหรับการก้าวไปสู่ปีที่ 2 การศึกษาไทยจะเผชิญความท้าทายต่อการผันผวนของโลกมากมาย อาทิ สถานการณ์โควิด-19 จึงเล็งเห็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ภายใต้แนวทาง “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” ได้แก่
1. ทันสมัย การเรียนการสอน โค้ดดิ้ง (Coding) ที่ได้ออกแบบเนื้อหาหลักสูตรร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สนับสนุนเด็กไทยในการเรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ที่ได้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด เป็นนโยบายที่ปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชนไทย เป็นการสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียน โดยการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยตามความเหมาะสม ทั้งเด็กปกติและกลุ่มเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งทักษะที่สำคัญจำเป็น และควรเน้นเป็นอย่างยิ่ง คือ การคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิต Coding เป็นทักษะการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยสร้างความมีตรรกะและแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะมีการยกระดับคุณภาพวิทยาศาสตร์ไทย ให้การสนับสนุนในด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา พัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพสูงทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ นักคิดค้นของประเทศชาติต่อไปในอนาคต รวมถึงขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย การเตรียมความพร้อมในการทดสอบ PISA 2021 และยกระดับ ผลการสอบ PISA ของประเทศไทยต่อไป
2. เท่าเทียม การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสต้องสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี
3. ยั่งยืน การยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอด ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร (Digital Agri College) โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน: STI (Science /Technology/Innovation) เพื่อยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็น Digital Agri College รวมถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้หลักสูตร “ชลกร” ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ทั้งหมดนี้จะใช้กลไกของสภาการศึกษาเป็นฟันเฟือง ซึ่งได้ผลักดันให้สภาการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
“ครูกัลยา เป็นเด็กต่างจังหวัด มายืนตรงจุดนี้ได้เพราะการศึกษา ดังนั้นจะทุ่มเททำงานด้วยความตั้งใจ ระดม
กำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จ ในการปฏิรูปทางการศึกษา เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป แม้จะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน เพื่อสร้างความเข้าใจ แต่ก็จะเดินหน้าต่อ พร้อมก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งใจไว้” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
16/7/2563