ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะสนทนากับรองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี คณาจารย์ และนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน’ เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ (SC 1002) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ความตอนหนึ่งของการบรรยายพิเศษ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า “ศาสตร์พระราชาว่าด้วยความรับผิดชอบทางหน้าที่การงานและการศึกษาถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะหากใครก็ตามขาดความรับผิดชอบชั่วดี ขาดหลักการดำเนินชีวิตที่ยึดมั่นคุณธรรมจรรยา งานในภาระหน้าที่ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ กลับกลายเป็นความล้มเหลว

นิยามความหมาย ‘ความรับผิดชอบ’ หมายถึง ภาระผูกพันในการปฏิบัติหน้าที่การงานของผู้ร่วมงาน ได้แก่ แต่ละผู้แต่ละฝ่าย เรียนรู้และรู้จักการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่เป็นลักษณะวันแมนโชว์ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร และเนื่องจากบุคคลต้องอยู่ร่วมกันในแต่ละองค์กรในเวลาหนึ่ง ๆ เพื่อภารกิจที่อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละครั้งก็เป็นได้

หัวหน้าองค์กรจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างหรืออาจเรียกว่าเป็นไอดอลแก่สมาชิกร่วมองค์กร เจตคติของผู้นำองค์กรจะเป็นแรงผลักดันให้สมาชิกทั้งหลายสามารถปฏิบัติงานตามระเบียบแบบแผนด้วยความเสียสละเพื่อให้เกิดความสำเร็จ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่เห่อเหิม รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติงานในหน้าที่รับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอารัดเอาเปรียบ”

ศาสตร์พระราชา เฉกเช่นที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญเป็นแบบอย่างที่งดงามแก่เราทุกคนมาโดยตลอดรัชสมัย ความเรียบง่าย ความประหยัด ความจริงใจ ได้ปรากฏผลลัพธ์ทางประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จในหลายเรื่องหลายประการ ที่บุคคลโดยทั่วผู้มีความรับผิดชอบควรได้มีความตระหนักและก้าวเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ที่จะทำให้การปฏิบัติงานของแต่ละผู้แต่ละฝ่ายนำพาไปสู่ความสำเร็จบริบูรณ์ ปรากฏเป็นชื่อเสียงเกียรติคุณทั้งแก่ตนเองและองค์กร*
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เวลา 12.30 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง ‘พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ ปวงชนชาวไทย’ หลักสูตรเสนาธิการทหาร รุ่นที่ 59 ประจำปีการศึกษา 2561 ณ ห้องเรียนรวม วิทยาลัยเสนาธิการทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า หลักการเป็นผู้บริหารหรือผู้นำที่ดีมีหลายด้าน อาจนำหลักของแมคเคนซี่ (McKinsey Global Institute: MGI) ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ แมคเคนซี่ได้เดินทางมาสรุปภาพรวมทิศทางการศึกษาของประเทศไทย จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า ผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่สุด หากผู้บริหารไม่เป็นแบบอย่างที่ยั่งยืน (Role Model) จะทำให้องค์กรยากที่จะขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องมีทักษะการเป็นผู้นำ ความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม ที่จะนำพาองค์กรให้ก้าวหน้า และเกิดประโยชน์สูงสุด
ยิ่งเป็นข้าราชการแล้ว อย่าหลงลืม ไม่วางอำนาจบาตรใหญ่ รำลึกให้มั่นว่า สิ่งที่ท่านทำนั้นคือ ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติสืบไปในวันข้างหน้า อีกทั้งต้องน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ที่สำคัญที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานสอนปวงชนชาวไทย เช่น การทำความดี ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรู้-รัก-สามัคคี และเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยิ่งยืน

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างตระหนักถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรม จึงได้มีนโยบาย “โรงเรียนคุณธรรม“ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญ 5 ประการ คือ ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และอุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม

นายปกรณ์ เรืองยิ่ง, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า, ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
21/10/2560
*เอกสารข่าว สนง.รมช.ศธ.
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี และ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.: รายงาน