ผลประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา
จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กลุ่มภารกิจที่ 4 ด้านการศึกษา)
ศึกษาธิการ – พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกลุ่มภารกิจงานที่ 4 การศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2558 ณ ห้องรับรองจันทรเกษม โดยมีพันเอกรัตนโชติ อ่างทอง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุม

หารือแนวทางบูรณาการดำเนินงานของหน่วยงานตามกลุ่มภารกิจงานที่ 4
พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมกลุ่มภารกิจงานที่ 4 การศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม เป็นการประชุมเพื่อประสานงานในการขับเคลื่อนนโยบายของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักของกลุ่มภารกิจงานที่ 4 จากทั้งหมด 7 กลุ่มภารกิจงาน
การประชุมในครั้งนี้ ได้หารือถึงแนวทางการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน เพื่อดำเนินการตามกลุ่มภารกิจงานที่ 4 คือ งานด้านการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรเน้นให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 20 หน่วยงาน ได้ทำงานเชิงบูรณาการตามแผนงานและโครงการร่วมกัน พร้อมทั้งจัดให้มีระบบรายงาน ติดตาม ประเมินผล และกำหนดตัวชี้วัดผลดำเนินงานตามเป้าหมายที่ชัดเจน โดยจัดระบบการพัฒนา ติดตาม และการประเมินผลของหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือน มายังสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรวบรวมข้อมูลและดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการตั้งผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อทำหน้าที่ในการประสานข้อมูล และดำเนินงานรักษาความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด
รับทราบแผนงานแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ คปต.
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานตามเป้าหมายและกลยุทธ์ของแผนงานแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ คปต. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
1) ผลการดำเนินงานที่มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตาม 7 เป้าหมาย 15 กลยุทธ์ คือ
– สถาบันการศึกษากลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับการยกระดับคุณภาพตามนโยบายรัฐ
– บุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานวิชาชีพ
– นักเรียนและเยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกประเทศ
– เด็ก เยาวชน และประชาชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ได้รับความรู้และเพิ่มทักษะอาชีพ
– ประชาชนในพื้นที่สามารถดำเนินวิถีชีวิตตามประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมของชุมชนและท้องถิ่น
– อัตลักษณ์ทางภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมมากขึ้น
– การจัดการศึกษาในพื้นที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามมาตรฐานการศึกษา โดยมีผลการประเมินอย่างต่อเนื่อง
2) การดำเนินงานของ 20 หน่วยงาน ในกลุ่มภารกิจงานที่ 4 ซึ่งได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการจำนวนทั้งสิ้น 4,293 ล้านบาท ดังนี้
– กระทรวงศึกษาธิการ 10 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิทยาลัยชุมชน
– กระทรวงวัฒนธรรม 5 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, กรมการศาสนา, กรมศิลปากร, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
– กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
– สำนักงานพระพุทธศาสนา
– ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
– กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กรมพลศึกษา)
– กองทัพอากาศ
3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสูงขึ้น โดยวัดผลจากการเปรียบเทียบคะแนน O-NET จำนวน 5 รายวิชา คือ รายวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ปี 2556-2557 จำแนกรายจังหวัด ดังนี้
– ยะลา รายวิชาที่สูงขึ้น คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ
– ปัตตานี รายวิชาที่สูงขึ้น คือ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ
– นราธิวาส รายวิชาที่สูงขึ้น คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
– สงขลา รายวิชาที่สูงขึ้น คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์
– สตูล รายวิชาที่สูงขึ้น คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์
4) จดเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 3,343 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนการทำงานใน 6 ประเด็น คือ
– ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
– ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา
– ส่งเสริมความปลอดภัย สวัสดิการของครูและบุคลากรทางการศึกษา
– การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา
– สนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ
– เสริมสร้างการศึกษาเพื่อความมั่นคง

ขอบคุณภาพถ่าย : สพฐ.
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
20/10/2558