ขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่ EEC

จังหวัดนครนายก – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 2 ภูเขางามรีสอร์ท อำเภอเมืองนครนายก โดยมีประเด็นสำคัญจากการประชุมโดยสรุป ดังนี้

● รับทราบการประกาศฯ การจัดตั้ง 18 กลุ่มจังหวัด ใน 6 ภาค

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งกำหนดให้มี 18 กลุ่มจังหวัด และ 6 ภาค พร้อมทั้งกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด และให้ใช้ในการดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562

ในส่วนของภาคตะวันออก 8 จังหวัด แบ่งเป็น 2 กลุ่มจังหวัด คือ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 มี 5 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด นครนายก และสระแก้ว (โดยจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด คือ ชลบุรี และปราจีนบุรี)

● รับทราบผลการประชุมคณะกรรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ครั้งที่ 3

ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี (พ.ศ.2560-2564) และโครงการระยะเร่งด่วนที่มี่ความจำเป็นแต่ยังไม่มีงบประมาณ จำนวน 19 โครงการ กรอบวงเงิน 861.02 ล้านบาท โดยให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) หารือกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบรายละเอียด ข้อมูล จำนวนกลุ่มเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวกับ สกรศ. และให้นำเสนอที่ประชุมรับทราบอีกครั้งหนึ่งในการประชุมครั้งต่อไป

● รับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ EEC

ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของหน่วยงานต่าง ๆ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

  • สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)  ได้ดำเนินการในเรื่องกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่รองรับ 7 กลุ่มสาขา เช่น แม่พิมพ์ โลจิสติกส์ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ รับผิดชอบการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มสาขาดังกล่าวแล้ว

  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วางเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัด ปีงบประมาณ 2561-2563 จำนวน 80 โรงเรียน เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพมาตรฐานสากลรองรับการเป็น EEC Schools อันจะทำให้นักเรียนมีความสามารถในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพใน 10 อุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ EEC คือ 1) ยานยนต์สมัยใหม่ 2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) การแปรรูปอาหาร 6) หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7) การบินและโลจิสติกส์ 8) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) ดิจิทัล และ 10) การแพทย์ครบวงจร

  • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  ได้รายงานผลให้ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น การอบรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้เรียน ปวช./ปวส. ที่กำลังจะจบการศึกษาในพื้นที่กว่า 1 หมื่นคน เพื่อให้มีทักษะในการสื่อสารสำหรับการเรียนต่อหรือทำงานในสถานประกอบการ นอกจากนี้มีโครงการอบรมหลักสูตรระยะสั้น (E2E) ในพื้นที่อีกด้วย รวมทั้งแนวทางที่จะดำเนินงานต่อไป เช่น การพัฒนาครูร่วมกับสถานประกอบการและมหาวิทยาลัย

  • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  มีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของสถาบัน อุดมศึกษานอกพื้นที่ และการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน [Carnegie Mellon University (CMU)] ได้เข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในรูปแบบสถาบันร่วม (Joint Institute) ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) โดยจะเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2561
         นอกจากนี้ ตัวแทนมหาวิทยาลัยในพื้นที่จำนวนทั้งสิ้น 9 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงความก้าวหน้าการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม ส่วนมหาวิทยาลัยบูรพาได้เพิ่มเติมถึงการจัดโครงการ 200 นักวิจัย 200 โจทย์พัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อช่วย SMEs ในพื้นที่ EEC

  • สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  นำเสนอโครงการที่เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งได้วางแผนเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การพัฒนาภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษา โดยใช้ กศน.ตำบล เป็นฐานจัดกิจกรรมการเรียนรู้, การจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเป้าหมายพิเศษ, การฝึกอาชีพทักษะขั้นพื้นฐาน ฯลฯ

  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้เสนอโครงการพัฒนาภาษาจีน ซึ่งปีนี้จะเพิ่มอาสาสมัครจีนจากเดิม 550 คน เป็น 1,000 คน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียว, การพัฒนา STEM Education ที่ได้ร่วมมือกับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง, การดำเนินงานของ 8 โรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับจัดการศึกษา, การลงนามความร่วมมือการพัฒนาครูผู้สอนภาษาญี่ปุ่น นอกจากนี้ มีการส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อจัดการศึกษาในสาขาที่มีศักยภาพสูง เช่น การเดินเรือ การบิน, การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค 8 จังหวัด กับพื้นที่ EEC เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาการศึกษาของทุกจังหวัดในภาคตะวันออก เกิดการเชื่อมโยงและสนองตอบต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยจะมี “คณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออกและการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของกระทรวงศึกษาธิการ” เข้ามารับผิดชอบทั้งการศึกษาในพื้นที่ EEC และภาคตะวันออกต่อไป


อิชยา กัปปา, ศุภลักษณ์ แจ้งใจ, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน, ธเนศ งานสถิร: ถ่ายภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สป.และกลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
14/12/2560