ขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่ EEC

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมทั้งเตรียมจัดประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ปลายเดือนกันยายนนี้ ในหัวข้อ “มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อสร้างการรับรู้ในการขับเคลื่อนการศึกษาและการพัฒนากำลังคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ให้ประเทศก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี



เมื่อวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2560


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยดำเนินการใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมถึงเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องนั้น


กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อขับเคลื่อน “การศึกษา” ที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 1226/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ของกระทรวงศึกษาธิการ สั่ง ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2560 โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ 2 คณะ คือ




  • คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 12 คน โดย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน, รมช.ศึกษาธิการ เป็นรองประธาน, ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ส่งเสริม สนับสนุนการปฏิบัติงานในระดับนโยบาย รวมทั้งกำกับ ติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์



  • คณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 23 คน โดย รมช.ศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธาน, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาการศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามแผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล รวมถึงกำกับดูแล ติดตามผลการดำเนินงาน



การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของคณะกรรมการตามคำสั่งดังกล่าว ซึ่งได้เชิญทั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินงาน ได้มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อรับทราบแนวทางการทำงาน เช่น แนวทางการพัฒนาและกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ EEC


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสภาพปัญหาของพื้นที่ EEC เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้สะท้อนให้เห็นภาพการทำงานในระดับจังหวัดที่ต้องขับเคลื่อนผ่านสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) แต่หาก ศธจ.ใน 3 จังหวัดยังไม่มีความเข้มแข็งพอ จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งต่อการขับเคลื่อนงานให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น ในเรื่องกรอบอัตรากำลังคนใน ศธจ. ที่จะต้องมีความพร้อม ไม่ขาดอัตรากำลัง หรือการใช้ประโยชน์จากศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC TVET Career Center) ที่จัดตั้งแล้วใน 3 จังหวัดนั้น ทุกหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่สามารถร่วมใช้ประโยชน์จากศูนย์ระดับจังหวัด 3 ศูนย์ และ 10 ศูนย์ย่อยได้



อีกประเด็นสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ เรื่อง “มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อสร้างการรับรู้ในการขับเคลื่อนการศึกษาและการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และการนำเสนอผลการดำเนินงานทางการศึกษา โดยโครงการดังกล่าวจะกำหนดการทำงานเป็น 3 ขั้นตอน นับตั้งแต่การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมการจัดประชุมสัมมนา การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาในพื้นที่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จนถึงการประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ที่กำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะมีศึกษาธิการจังหวัดและผู้เกี่ยวข้องจาก 35 จังหวัด คือ พื้นที่จังหวัดชายแดน/เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 27 จังหวัด จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด และพื้นที่ EEC 3 จังหวัด ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการศึกษาตามบริบท และนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป



อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
16/8/2560