ขับเคลื่อนงานการศึกษา จ.ลำพูน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560 มล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ และมอบนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับจังหวัด จังหวัดลำพูน ณ โรงเรียนจักรคำคณาทร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 200 คน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า เราทุกคนล้วนเป็นชาวกระทรวงศึกษาธิการด้วยกัน เป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีความเก่าแก่ และมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน จึงควรที่จะรักกันไว้ให้มาก ๆ ควรรักหน่วยงาน รักกระทรวง และรักเพื่อนข้าราชการด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ ยิ่งต้องรักกัน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานเยาวชน และขอให้ทำงานโดยยึดหน้าที่เป็นตัวนำการขับเคลื่อนงานแต่ละด้าน พร้อมเชื่อมโยงกับหน่วยงานการศึกษาในท้องถิ่นอย่างสมดุลกลมกลืน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสมาคมผู้ปกครอง เพื่อเชื่อมต่อการจัดการศึกษาของ “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่จะช่วยสร้างเด็ก ให้เด็กไปพัฒนาพื้นที่และสร้างชาติต่อไป

นอกจากนี้ ขอฝากให้ช่วยปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมกับลูกหลานผ่านกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ อย่างมีเป้าหมาย เพื่อเกิดประโยชน์แก่เด็กและเยาวชน เช่น กิจกรรม Extra Reading เพราะการอ่านจะช่วยฝึกทักษะการฟัง การพูด และการเขียน ไปในตัวด้วย

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูนเป็นเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของจังหวัดสูงตามไปด้วย อีกทั้งจากการรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index – HAI) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความก้าวหน้าการพัฒนาคนในระดับจังหวัดของประเทศไทย ยังพบว่า ดัชนีความก้าวหน้าของคนลำพูน จัดอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดภูเก็ตและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งความสำเร็จต่าง ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยเฉพาะในส่วนของการศึกษาของจังหวัดลำพูน ถือว่าอยู่ในระดับน่าพึงพอใจ ประการสำคัญเกิดจากการน้อมนำพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ที่ว่า “เป็นคนใช่ไหม ฝากเด็ก ๆ ด้วย ช่วยสอนเขาให้เป็นคนดี” มาใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษา ปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีทักษะทางวิชาการ และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้มีเป้าหมายดำเนินการให้สถานศึกษาในจังหวัดลำพูน เป็นสถานศึกษาคุณธรรมทุกแห่ง

สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย โรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 245 แห่ง สถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 6 แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) 74 แห่ง สถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 24 แห่ง สถานศึกษาของสำนักงานพระพุทธศาสนา 2 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 1 แห่ง และสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 17 แห่ง

นายวิญญู สันติภาพวิวัฒนา ศึกษาธิการจังหวัดลำพูน กล่าวรายงานถึงแผนการจัดการศึกษาว่า จังหวัดได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้จัดทำแผนการศึกษาจังหวัดลำพูน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “จังหวัดลำพูนจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สู่การเป็นเมืองแห่งความสุข บนความพอเพียง”

ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อน ได้แก่ การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ, การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน, การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้, การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา, การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการโดยมุ่งเป้าประสงค์ ให้ผู้เรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 หน่วยงานทางการศึกษา สถานศึกษา มีระบบบริหารจัดการศึกษาได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ครู บุคลากรทางการศึกษา มีสมรรถนะในการปฏิบัติงาน มีจรรยาบรรณ และมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ ตลอดจนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและพื้นที่

นายวณิชย์ อ่วมศรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สอศ. กล่าวถึงบทบาทในการจัดการอาชีวะแนวใหม่ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ สอดคล้องกับความต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรม First S-Curve และ New S-Curve ไม่ว่าจะเป็น ช่างอากาศยาน รถไฟความเร็วสูง ปิโตรเลียม การตรวจสอบแบบไม่ทำลาย โดยเน้นความมีคุณภาพและมีมาตรฐานสากล ทั้งมาตรฐานฝีมือแรงงานและมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่การศึกษาต้องมุ่งสร้างผู้เรียนให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง สามารถนำความรู้และทักษะจากการเรียน ไปใช้ในการทำงานเพื่อสร้างให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ตามโครงการสถานศึกษาคุณธรรม ได้มีการดำเนินการในสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ ทั้ง 428 แห่ง ภายใต้กรอบการดำเนินงานของมูลนิธิยุวสถิรคุณ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อาทิ กิจกรรมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) อาชีวะอาสาช่วยเหลือประชาชน ทั้งในช่วงเทศกาล หรือช่วงที่เกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้เด็กนำความรู้ทักษะวิชาชีพมาใช้งานจริงแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือสังคมได้ด้วย เกิดเป็นความภาคภูมิใจ ทั้งต่อตัวเด็กเอง ตลอดจนพ่อแม่ ครูอาจารย์ และสถานศึกษาด้วย

นอกจากนี้ ระบบทวิภาคียังเป็นอีกแนวทางที่สำคัญ ที่นำมาใช้ในการสร้างกำลังคนสายวิชาชีพ เพื่อเชื่อมห้องเรียนกับโลกของการทำงาน ด้วยการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ ส่งผลให้เด็กอาชีวะมีทักษะการทำงานที่ทันสมัย และสามารถปฏิบัติงานจริงได้ทันที โดยไม่ต้องฝึกอบรมเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 70:30 ดังนั้น จะหารือร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางผลักดันให้มีผู้เรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัดและกลุ่มจังหวัดโดยเร็วต่อไป

นายประยุทธ์ หลักคำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาสื่อการเรียนการสอน สำนักงาน กศน. กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงาน กศน. ได้จัดการศึกษาเรียนรู้แก่ผู้ขาดและพลาดโอกาสทางการศึกษามีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการปรับรูปแบบและสื่อการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย ให้ก้าวสู่โลกยุคดิจิทัลมากขึ้น ทั้งพัฒนาสื่อการเรียนรู้/บทเรียน e-Learning ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตลอดเวลาผ่านสมาร์ทโฟน, พัฒนาครูให้มีความรู้และเท่าทันสื่อดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาสื่อการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2564 นอกจากนี้ ยังได้จัดอบรมให้ความรู้ เพื่อสร้างความรักชาติแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ผ่านหลักสูตรประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดจนจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ชายขอบชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์ ด้วย

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน สช. กล่าวว่า การจัดการศึกษาเอกชนเน้นคุณภาพวิชาการ และคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน พร้อมส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ทั้งนี้ ฝากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ช่วยให้การส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชนด้วย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับการศึกษาของลูกหลานเยาวชนจังหวัดลำพูนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมต่อไป


ปารัชญ์ ไชยเวช, นวรัตน์ รามสูต: สรุป/รายงาน
ปกรณ์ เรืองยิ่ง, อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
11/11/2560