ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปปฏิบัติราชการที่
• บรรยาย “อนาคตอาชีวศึกษาเอกชนไทย-ทางเลือก-ทางรอด-โอกาส” ที่สงขลา
เมื่อเวลา 10.30 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “อนาคตอาชีวศึกษาเอกชนไทย ทางเลือก ทางรอด และโอกาส” ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 42 พ.ศ.2560 พร้อมมอบโล่เกียรติยศแก่วิทยาลัยและนักศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปี 2560 ตลอดจนผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน จัดโดยสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ณ โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ.หาดใหญ่
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า ทุกท่านคงตระหนักถึงความสำคัญของอนาคตของการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนเป็นอย่างดี เพราะเป็นแนวนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “THAILAND 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม ปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม พร้อมปรับเปลี่ยนการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ที่มุ่งไปสู่ภาคการบริการมากขึ้นกว่าการผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น จึงมุ่งหวังให้การประชุมสัมมนาครั้งนี้ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมพัฒนาอาชีวศึกษาเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถกำลังคนในการขับเคลื่อนประเทศ สอดคล้องกับสภาพพลวัตในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการด้วย อย่างไรก็ตาม หากจะมุ่งความสำเร็จในการศึกษาที่จะต้องมีความครบถ้วนนำประเทศก้าวไปสู่ THAILAND 4.0 ได้นั้น การมีความรู้ความสามารถทางวิชาการอย่างเดียวคงไม่พอ แต่จำเป็นต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต ในการครองตน ครองครอบครัว และสังคม ให้แก่ผู้เรียน ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วย
ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่าสมาคมฯ พร้อมที่จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนโครงการสถานศึกษาคุณธรรมในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ โดยได้กำหนดตัวชี้วัดและกรอบการดำเนินงาน ตลอดจนวางแผนการติดตามประเมินผลเป็นระยะ ๆ ด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ีและผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในการเพิ่มเรื่องของโครงการสถานศึกษาคุณธรรมให้เป็นวาระในการติดตามประเมินผล เพื่อให้สถานศึกษาทุกสังกัดมีพัฒนาการเชิงสร้างสรรค์ และมีผลลัพธ์เชิงบวกมากขึ้น
• มอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. ที่พัทลุง
จากนั้นในเวลา 13.30 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด, อ.ก.ศ.จ., หัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษาในจังหวัดพัทลุง ณ หอประชุมโรงเรียนพัทลุง อ.เมืองพัทลุง
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของจังหวัดพัทลุง ต้องให้มีความสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) รวมทั้งแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ที่มีวิสัยทัศน์คือ “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาให้ผู้เรียนทุกคนมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3Rs และ 8Cs ประเทศก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
จึงขอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พัทลุง บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน พร้อมช่วยกันขบคิดกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาภาพรวมของจังหวัด ให้ตอบโจทย์บริบทและความต้องการพัฒนาพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดในภูมิภาค มีการขยายผลโครงการที่ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งมอบหมายผู้รับผิดชอบที่เหมาะสมในการนำแผนสู่การปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนด้วย
ทั้งนี้ ม.ล.ปนัดดา ได้ยกตัวอย่างนโยบายและโครงการที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ
จัดการศึกษาตามพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4) เป็นพลเมืองดี
ดำเนินการฝึกอบรมในสถานศึกษาให้ผู้เรียนรักงานสู้งาน ทำงานจนสำเร็จ และจัดฝึกอบรมนอกหลักสูตรเพื่อการมีงานทำ มีทักษะการทำงานและสร้างรายได้
ยกระดับคะแนน O-NET วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ พร้อมส่งเสริมสร้างทักษะในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้เรียนปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เปิดโอกาสให้ผู้ปกครอง ชุมชน และศิษย์เก่า เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาสถานศึกษามากขึ้น
มอบ กศจ. ผลักดันนโยบายส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ด้วยกระบวนการลูกเสือ เนตรนารี, จัดระบบส่งต่อผู้เรียน เพื่อป้องกันและติดตามการออกกลางคัน, จัดอบรมครูที่เชื่อมโยงกับการได้รับวิทยฐานะและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ, ส่งเสริมครูดีและคัดเลือกผู้บริหารด้วยความเป็นธรรม ตอบคำถามสังคมได้, มีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทั้งในและหน้าสถานศึกษาอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือในการป้องกันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และชุมชน ตลอดจนเฝ้าระวังการใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ โดยร่วมมือกับครูและผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ สถาบันแมคเคนซี่ (McKinsey Global Institute: MGI) ได้ให้ข้อสรุปไว้ในการบรรยายเกี่ยวกับแวดวงการศึกษาของโลก ซึ่งจัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า ความสำเร็จของการจัดการศึกษาอยู่ที่ “ผู้บริหารสถานศึกษา” ที่จะนำพาหลักชัยการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จตามผลสัมฤทธิ์ หากผู้บริหารมีทักษะการเป็นผู้นำขั้นสูง มีความรู้ความสามารถ ประกอบด้วยมีจริยธรรมจรรยา ก็จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากระดับต่ำไปสู่จุดที่ดีเยี่ยมได้
ดังนั้น หากผู้บริหารขององค์กรเป็นแบบอย่างที่ล้ำเลิศให้กับบุคลากร ก็จะเกิดการเชื่อมโยงต่อไปสู่ลูกหลานนักเรียนนักศึกษาที่จะปฏิบัติตาม ภาพความสำเร็จต่าง ๆ ก็จะตามมา ซึ่งครอบคลุมรวมไปถึงองค์กรอื่น ๆ ด้วย มิใช่สถานศึกษาเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดความรุ่งเรืองต่อสังคมไทยอย่างยั่งยืน
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
7/10/2560