ขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม

รมช.ศึกษาธิการ “พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” ลงพื้นที่ังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามโครงการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภารกิจการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2561 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) เมื่อวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา

นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับในนามจังหวัดนครราชสีมาว่า  “โคราช” เป็นประตูแห่งภาคอีสาน เป็นเมืองใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในการผลิตและการลงทุนทางภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม รวมทั้งการท่องเที่ยวและโบราณสถาน มีสถานศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โรงเรียนในสังกัด สพป.นครราชสีมา เขต 1-7 และ สพม.เขต 31 และในส่วนสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ของรัฐและเอกชน รวม 24 แห่ง มีนักเรียนนักศึกษากว่า 4 หมื่นคน เปิดสอนหลักสูตรระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี รวมทั้งหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นตามความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

การจัดงานในครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับความพร้อมของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งมีเขตอุตสาหกรรม มีสถานประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมกว่า 2,000 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือและเส้นทางขนส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนมีแรงงานเพียงพอกับความต้องการของภาคธุรกิจ สิ่งสำคัญคือสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพ ทำให้เด็กได้มีงานทำ ได้พัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของจังหวัด สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้แก่ประเทศในอนาคต

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของอาชีวศึกษาสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการจับคู่ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา เพื่อเจรจานำสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ที่เป็นผลงานมาใช้งานจริงเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาซื้อนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์, การให้คำแนะนำเพื่อการใช้ประโยชน์ และปรับปรุง ตลอดจนนัดหมายดูและซื้อผลงาน, การกำหนดโจทย์ให้กับนักเรียนนักศึกษาและสถานศึกษา ไปสร้าง ผลิต และรับซื้อ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักเรียน นักศึกษา ในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เพื่อทำเป็นธุรกิจต่อไป

ผศ.บรรพต วิรุณราช ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา เพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เป็นการแสดงความจำนงของการจับคู่ระหว่างสถานประกอบการ และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของสถานศึกษา โดยแบ่งเป็นการจับคู่ที่สอดคล้อง และการจับคู่เพื่อรับข้อเสนอแนะ โดยภาคธุรกิจสามารถเจรจาได้ในทุกมิติ คือ

   1. ซื้อนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์
   2. อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อการใช้ประโยชน์ จากนั้นนำไปปรับปรุง และนัดหมายดูผลงานและซื้อ
   3. กำหนดโจทย์ให้กับนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษา ไปสร้าง ผลิต และรับซื้อ
   4. ให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักเรียน นักศึกษา ในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เพื่อทำเป็นธุรกิจต่อไป

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่และประชากรกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ พื้นที่มีขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่สำคัญต่อภาคผลิตด้านการเกษตรกรรมและโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจหลักของประเทศ เช่น โครงข่ายรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง อีกทั้งมีสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาที่ทำการวิจัย รวมทั้งมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวนมาก จึงเป็นโอกาสในการที่จะนำเสนอศักยภาพผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในพื้นที่ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงการปฏิรูปการศึกษาในการพัฒนากำลังคน ทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย

สำหรับแนวทางการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เป็นการขยายผลอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เข้าสู่ภาคธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการนำร่องเปิดโอกาสในการเจรจาธุรกิจด้านนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ให้กับผู้ประกอบการเป็นครั้งแรกในเขตภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนำสิ่งประดิษฐ์ไปสู่การผลิตต่อยอดและใช้งานได้จริงในระบบอุตสาหกรรม  โดยในครั้งนั้นได้รับความสนใจจากสถานประกอบการเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าน่าจะมีผลการตอบรับที่ดีทุกภาค กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ขยายจัดกิจกรรมดังกล่าวให้ครบทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศ

โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้มอบแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญในการทำงาน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  • การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จากการเยี่ยมชมนิทรรศการ ทำให้เห็นความก้าวหน้าเป็นอย่างมากของผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดที่นำมาจัดแสดง ซึ่งมีรางวัลระดับภาคปีการศึกษา 2559-2560 จำนวน 286 ผลงาน และได้รับความสนใจ สอบถาม เพื่อเข้ามาเจรจาจับคู่ธุรกิจเบื้องต้น โดยได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ จำนวน 84 คู่ และแจ้งทาง Link จำนวน 75 คู่ ซึ่ง สอศ. ได้จัดทำ Link นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อให้ผู้สนใจเข้าชมรายละเอียดและพิจารณาคุณสมบัติสิ่งประดิษฐ์ได้โดยผ่าน คิวอาร์โค้ด

  • การทำงานของสถานศึกษา  ขอให้สถาบันอาชีวศึกษาทุกแห่ง ทั้งที่จับคู่กับภาคเอกชนและไม่ได้จับคู่กับภาคเอกชนดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงนามความร่วมมือ ความแน่นแฟ้นในการดำเนินงานและประสานงาน การติดตามประเมินผลเป็นห้วง ๆ เพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลที่เป็นรูปธรรม นำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ในภาคให้มากยิ่งขึ้น

  • การทำงานของหน่วยงานให้เกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการ  กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้หน่วยงานอื่น ๆ นอกเหนือจากอาชีวะ มาช่วยกันทำงานเชิงบูรณาการ เช่น สำนักงาน กศน. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาลคือ “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” เพราะมี กศน.ตำบล ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศที่สามารถมาเสริมงานส่วนนี้ร่วมกับอาชีวะได้ โดยเฉพาะข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อพี่น้องประชาชนด้านการเกษตร โดย กศน.จะร่วมมือกันทำงานช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน.ตำบล ที่จะเข้าไปช่วยในเรื่อง e-Commerce ให้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ได้ร่วมส่งเสริมสนับสนุนไปแล้วกว่า 1 แสนราย ไปดูว่าเรียนแล้วได้ประโยชน์อย่างไร และจะสามารถเชื่อมโยงกับอาชีวะได้อย่างไร  หรืออีกตัวอย่างคือสำนักงาน กศน.จังหวัด/อำเภอ/ตำบล อาจวางแผนจัดทำพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นสถานที่ประสานงานหรือสถานที่รับซื้อสินค้าของประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนขายสินค้าได้มากขึ้น อันจะส่งผลให้สร้างรายได้ให้มากขึ้น และเพิ่มเงินหมุนเวียนให้มากขึ้น  เพราะมั่นใจว่าทุกพื้นที่ของประเทศมีสินค้าที่มีคุณภาพและคุณค่าเป็นจำนวนมาก หากดำเนินการได้เช่นนี้ มั่นใจว่าทุกหน่วยงานจะได้ทำงานเชิงบูรณาการที่เกิดการต่อเนื่องเชื่อมโยงที่จะเป็น Supply Chain

  • การทำงานกลไกประชารัฐ   การทำงานบางเรื่องไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นโดยใช้งบประมาณ เพียงแต่ใช้ความคิด และริเริ่มในการทำงานโดยไม่ชักช้า ทำงานด้วยความรอบคอบ ทั่วถึง เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก รวมถึงให้ประชาชนเข้าใจ ก็จะทำให้เกิดการทำงานในกลไก “ประชารัฐ” ที่เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญต่อความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เรียนจบแล้วมีงานทำ เป็นอาชีวะฝีมือชนคนสร้างชาติ และมีจิตอาสาที่แท้จริงที่จะสร้างคุณค่าให้กับสังคม

“เมื่อนั้นความสำเร็จเป็นรูปธรรมของชาวอาชีวศึกษา ก็จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนเห็นคุณค่าของนักเรียนนักศึกษาและบุคลากรอาชีวะที่มีต่อสังคม ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว



Written by นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน, ปกรณ์ เรืองยิ่ง
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร