วันนี้ (9 เมษายน 2561) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด “งานขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)” ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “สิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่อาชีวศึกษา” เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนของชาติคิดเป็น ทำเป็น สร้างความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรากฐานของการวิจัย เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยแบ่งออกเป็น 11 ประเภทที่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาในปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC ตามนโยบาย Thailand 4.0 สอศ.จึงได้ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการภาค 9 จัดโครงการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์จากสถาบันอาชีวศึกษาในภาคตะวันออกและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 49 วิทยาลัย ที่ผ่านการคัดเลือกว่าสามารถต่อยอดเข้าสู่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมได้ จำนวนทั้งสิ้น 120 ผลงาน โดยเชิญสถานประกอบการในภาคตะวันออกกว่า 100 แห่ง เข้าเยี่ยมชม ให้คำแนะนำในการวิจัยพัฒนาผลงานให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น และนำไปสู่การจับคู่ความร่วมมือในการนำผลงานไปใช้งานจริงในเชิงธุรกิจต่อไป

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการทำงานที่สร้างสรรค์ต่อการศึกษาที่มีภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชน เข้ามาทำงานร่วมกันสร้างสรรค์งานตาม “กลไกประชารัฐ” ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญยิ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นอกจากจะมีนักศึกษาอาชีวะและผู้ประกอบการจากภาคเอกชน 8 จังหวัดภาคตะวันออกเข้าร่วมแล้ว ยังมีนักเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเข้ามาร่วมงานครั้งนี้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการที่กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้เด็ก ๆ เลือกเรียนในสายอาชีวศึกษาในสัดส่วนที่มากขึ้น เพราะอาชีวศึกษาถือเป็นกำลังสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประดิษฐ์คิดค้นและสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นพลังในการพัฒนาชาติไปสู่ Thailand 4.0
ที่สำคัญยังช่วยทำให้เกิดการเสริมสร้างนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้งการนำภูมิปัญญาไทยให้กลับมามีบทบาทในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง รวมถึงเป็นการบูรณาการจัดการเรียนการสอน สร้างนวัตกรรมสู่การเรียนรู้ บูรณาการสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ในการจัดงานครั้งนี้ นอกจากมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์จากสถาบันอาชีวศึกษาในภาคตะวันออกและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังมีการประชุมการแสดงความจำนงในการช่วยเหลือนักศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช อดีตคณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดประชุมในการจับคู่ระหว่างสถาบันอาชีวศึกษากับสถานประกอบการในพื้นที่
ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมยินดีที่สถานประกอบการที่เป็นนักลงทุนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลจำนวนมากต่างได้แสดงความจำนงในการช่วยเหลือหรือต่อยอดให้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษาที่นำผลงานมาจัดแสดงใน 4 แนวทาง คือ
1) เจรจาซื้อสิ่งประดิษฐ์ หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์
2) แนะนำเพิ่มเติมจากสิ่งประดิษฐ์เดิม แล้วจะซื้อสิ่งประดิษฐ์หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์
3) ให้โจทย์นักศึกษาอาชีวศึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะซื้อต่อไป
4) ให้คำแนะนำหรือช่วยเป็นที่ปรึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ทั้งปัจจุบันและอนาคตไปดำเนินการทางธุรกิจต่อไป
“การดำเนินงานในภาคตะวันออกครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะพัฒนาต่อไป และเป็นต้นแบบที่สำนักงานศึกษาธิการภาค และ สอศ. จะได้ร่วมกันขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศทั้ง 6 ภาค ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำงานสร้างพลังในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพราะจะเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งต่อการสร้างเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้แก่ประเทศชาติ และฝากให้เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาติดตามงานเป็นห้วง ๆ ให้เกิดความก้าวหน้าต่อไปด้วย” พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ เป็นความร่วมมือการทำงานตามกลไกประชารัฐ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2561 โดยสำนักงานศึกษาธิการภาค 9 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งในพิธีเปิดมีผู้บริหารส่วนกลางและพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน อาทิ นายภัครธนณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด เป็นต้น
บรรยากาศนิทรรศการผลงานที่นำมาจัดแสดง
โดยเชิญผู้ประกอบการในภาคตะวันออกมาเยี่ยมชม
เพื่อเลือกซื้อหรือแนะนำไปต่อยอด




บรรยากาศการประชุมแสดงความจำนง
ช่วยเหลือนักศึกษาอาชีวศึกษาในภาคตะวันออก
เพื่อขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม
เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม









Written by บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit ปกรณ์ เรืองยิ่ง, อธิชนม์ สลางสิงห์
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร