ขับเคลื่อนไทยนิยม ยั่งยืน ภาคกลาง-ตวอ.

27 เม.ย.2561 กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออก ภาคกลาง และกรุงเทพฯ รวม 26 จังหวัด ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2561 ณ ห้องประชุมรอยัลจูบิลี่บอลรูม ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าอิมแพ็คเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด

ได้เน้นย้ำให้ครู กศน.ตำบล ซึ่งเป็นทีมขับเคลื่อนหลัก นำชุดความรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ ไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบประโยชน์จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเทคนิคในการนำข้อมูลเข้าสู่ประชาชน และขอให้นำจุดเด่นของแต่ละภาคมาประกอบพิจารณาขับเคลื่อน รวมทั้งน้อมนำหลักการทรงงาน 23 ประการ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างยั่งยืน”

นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานถึงการจัดประชุมครั้งนี้

“ตามที่รัฐบาลกำหนดนโยบายสำคัญหลายประการลงไปในพื้นที่ และต้องการให้มีการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในด้านต่างๆ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่บูรณาการงานสำคัญร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจ ปรับกระบวนการทางความคิด เสนอแนวทางให้กับประชาชน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยใช้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล เป็นแกนหลัก

ซึ่งมีกรอบหลักการในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่อง ดังนี้ 1) สัญญาประชาคมถูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2) คนไทยไม่ทิ้งกัน 3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4) วิถีไทยวิถีพอเพียง 5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6) รู้กลไกการบริหารราชการ 7) รู้จักประชาธิปไตยไทยนิยม 8) รู้เท่าทันเทคโนโลยี 9) บูรณาการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร และ 10) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน ทั้ง 10 เรื่องดังกล่าวถือเป็นสำคัญเร่งด่วน ที่จะขยายผลเพื่อต่อยอดในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยกำหนดให้มีการรายงานผลการขับเคลื่อนทุก 3 เดือน

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย 1) ระดับชาติ 2) ระดับจังหวัด 3) ระดับอำเภอ 4) ระดับตำบล ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ภายใต้กรอบหลักในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่องโดยการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงการดำเนินงานในทุกระดับ

ดังนั้น ในการประชุมทีมขับเคลื่อน ฯ ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้และสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรม/โครงการ ภายใต้ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหาร และครู กศน.ตำบล ในภาคกลางและภาคตะวันออก ประมาณ 2,300 คน

 

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ สถานที่แห่งนี้ (ห้องประชุมรอยัลจูบิลี่บอลรูม) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และวิทยากรระดับจังหวัดกว่า 2,800 คน ซึ่งโครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

สำหรับหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวข้องในการพัฒนาคน สอนคนให้เป็นคนดี-คนเก่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ ตลอดจนสร้างสังคมแห่งความดีงาม จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในกลไก “ประชารัฐ” ในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ จังหวัด อำเภอ และตำบล โดยเฉพาะอย่างยิ่งครู กศน.ตำบล ที่จะต้องเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่โดยตรง และเข้าร่วมเป็นทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการฯ ระดับตำบล ไปจนถึงหมู่บ้าน

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ในการเข้าไปทำงาน จึงได้มอบหมายให้นายพิธาน พื้นทอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. และคณะทำงาน ร่วมรับผิดชอบจัดทำ “ชุดความรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบประโยชน์จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงศึกษาธิการ ในรูปแบบแผ่น DVD เพื่อแจกในชุมชน ซึ่งถือเป็น “เทคนิคในการนำข้อมูลเข้าสู่ประชาชน” ส่วนขั้นตอนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจของ ศธ. นั้น ได้วางแผนประชุมทีมขับเคลื่อนฯ ที่ภาคใต้/ภาคใต้ชายแดน ภาคกลาง/ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ก่อนจะออกไปปฏิบัติงานขับเคลื่อน

ซึ่งในแต่ละภาค ได้เน้นย้ำให้ทีมขับเคลื่อนฯ ควรนำจุดเด่นของแต่ละภาคมาประกอบการพิจารณาในการขับเคลื่อนการทำงานด้วย เช่น

ภาคกลาง ตามยุทธศาสตร์การบริหารงานและงบประมาณระดับภูมิภาค จุดเน้นเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ทันสมัยระดับโลก เป็นศูนย์กลางและมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทั่วประเทศ การท่องเที่ยว มีเมืองหลักเมืองรอง ภาคประชาชนคือเป้าหมายสำคัญที่จะต้องมีความสุข

ภาคตะวันออก ใน 8 จังหวัด ที่มีพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ครอบคลุมด้วย จะเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เป็นต้น

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า คนไทยโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อคนไทยและผืนแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนหลักการทรงงาน 23 ประการ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้น ขอให้ชาว กศน. ศึกษาและน้อมนำหลักการทรงงานทั้ง 23 ประการ สู่การปฏิบัติในงานของตนเอง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

อันประกอบด้วย 1) การศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ 2) ระเบิดจากภายใน 3) แก้ปัญหาจากจุดเล็ก 4) ทำตามลำดับขั้น 5) ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ 6) ทำงานแบบองค์รวม 7) ไม่ติดตำรา 8) รู้จักประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด 9) ทำให้ง่าย 10) การมีส่วนร่วม 11) ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม 12) บริการที่จุดเดียว 13) ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ 14) ใช้อธรรมปราบอธรรม 15) ปลูกป่าในใจคน 16) ขาดทุนคือกำไร 17) การพึ่งพาตนเอง 18) พออยู่พอกิน 19) เศรษฐกิจพอเพียง 20) ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน 21) ทำงานอย่างมีความสุข 22) ความเพียร และ 23) รู้ รัก สามัคคี

นอกจากนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กล่าวถึงพระโอวาท สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งพระราชทานโอวาทในพิธีรับพระราชทานทุนเรียนดี รางวัล เข็มเกียรติคุณ และโล่เกียรติคุณ ประจำปีการศึกษา 2557 โรงเรียนราชวินิต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ซึ่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ด้วยว่า “… การให้การศึกษาแก่เยาวชนนั้น เป็นการสร้างคนให้มีความรู้ มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง เที่ยงตรง มีจิตใจที่ตั้งมั่นในคุณธรรมความสุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน การที่จะจัดการศึกษาให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงประสงค์ คือให้เยาวชนเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้ความคิดและคุณธรรมดังที่กล่าว นับเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยเวลา อาศัยความรู้ ความฉลาดรอบคอบ และความอดทนพากเพียรอย่างสูง ท่านทั้งหลายผู้มีหน้าที่จัดการศึกษา จึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของภาระหน้าที่ที่ตนมีอยู่ และมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติพัฒนางานต่อไปให้บรรลุผลสมบูรณ์ สำหรับนักเรียนที่ได้รับพระราชทานทุน รางวัล และเข็มเกียรติคุณนั้น ก็นับเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่า ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองในอนาคต แต่ละคนจึงต้องระลึกอยู่เสมอว่าตนมีภาระหน้าที่อันสำคัญรออยู่ แล้วตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนอบรมคุณธรรมความประพฤติให้ดียิ่งๆ ขึ้น จะได้สามารถนำความรู้ ความฉลาด และความดีทั้งปวง ไปใช้ประกอบกิจการงานสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตนแก่ชาติบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง …”

ในตอนท้าย พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวฝากหลักข้อคิดของการทำงานให้ประสบความสำเร็จด้วยว่า “เราจะทำ นำเพียรคิด จิตฝักใฝ่ หมั่นไตร่ตรอง” และขอให้วางแผนการทำงาน โดยคิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงใยการรับรู้ สู่การบูรณาการ สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน


นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังพิธีเปิดด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ผู้บริหารองค์กรหลักจะช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับภารกิจ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้กับคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ทั้งในส่วนของผู้บริหารระดับอำเภอ และครู กศน.ตำบล ที่จะต้องเป็นผู้ไปถ่ายทอดข้อมูลโครงการและสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมภายใต้โครงการฯ พร้อมรับฟังปัญหาและความต้องการจากประชาชนในพื้นที่ เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่และทำงานใกล้ชิดประชาชนในชุมชนมากที่สุด

ซึ่งงานในส่วนของ ศธ. มีความสอดคล้องกับกรอบหลักการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนอย่างแยกจากกันไม่ได้ และถือเป็นเจตนารมณ์ของ กศน.อยู่แล้วที่จะทำงานเพื่อประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านกิจกรรมการต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง และให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการและกิจกรรมภายใต้โครงการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม อาทิ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ที่มีความเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะอาชีพ เป็นการเพิ่มทักษะอาชีพขั้นพื้นฐาน เพื่อลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ ทั้งที่สามารถทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตัวเอง การประกอบอาชีพภายในครัวเรือน หรือหากเป็นการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มหรือชุมชน ซึ่งเป็นความต้องการในระดับที่สูงขึ้น ก็ต้องประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อช่วยดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการบูรณาการการทำงานในภารกิจที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการบูรณาการภายกระทรวง ระหว่างผู้บริหารของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงาน กศน. และการบูรณาการระหว่างกระทรวง คือการร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยเฉพาะครู กศน.ตำบล ได้ร่วมเป็นคณะทำงานในทุกคณะที่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชน รวมทั้งมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนโครงการในส่วนของ ศธ. ในระดับจังหวัดและตำบลทั่วประเทศด้วย

ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้ขยายเวลาโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2561 แล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเปิดโอกาสจัดเวทีประชุมเสวนาสร้างการรับรู้ รับข้อมูลชุดความรู้ และกิจกรรมองค์กรหลักถี่ขึ้น เพื่อช่วยให้การถ่ายทอดข้อมูลสู่ประชาชนให้ได้เข้าถึงบริการด้านการศึกษา ตลอดจนการจัดกิจกรรมในชุมชนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย.



Written by นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี, ปกรณ์ เรืองยิ่ง, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า (VDO)
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร