ขับเคลื่อน ป.ย.ป.

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อน กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)” แก่บุคลากรสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศกว่า 200 คน เพื่อสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาค

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าและผู้นำกลุ่มขับเคลื่อน ป.ย.ป.ศธ. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อน กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” ซึ่ง ศธ. โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรม เบลล่าบี จ.นนทบุรี

นายอำนาจ วิชยานุวัติ กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าและผู้นำกลุ่มขับเคลื่อน ป.ย.ป.ศธ. ได้จัดการประชุมร่วมกันในเรื่องของการขับเคลื่อนตามแผนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท ประเด็นเร่งด่วน รวมทั้งโปรแกรม eMENSCR (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform หรืออีเม้นซ์) ซึ่งเป็นระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติมาหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการสื่อสารเรื่องนี้ให้สำนักงานศึกษาธิการภาค/จังหวัดรับทราบ เพื่อให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายต่าง ๆ ที่จำเป็น

จึงได้จัดการจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ตลอดจนการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีกลไกและวิธีประเมินได้อย่างเป็นรูปธรรม มุ่งผลสัมฤทธิ์และไม่เป็นภาระของหน่วยงาน รวมทั้งการขับเคลื่อนให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่สำคัญ คือ เพื่อให้การพัฒนาประเทศประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามทิศทางและเป้าหมายของชาติที่กำหนดอย่างแท้จริง

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ถือเป็นหน่วยงานที่ดูแลจัดการศึกษาในภาพรวมทั้งระบบ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการเรียนการสอนที่ไม่มีรูปแบบการศึกษาแบบเดิม ๆ หน่วยงานการศึกษาจึงจะต้องหาวิธีการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์การจัดการศึกษาทุกระดับทุกพื้นที่ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทดังกล่าว

สำหรับกิจกรรมการทำงานภายใต้กรอบทั้งหมดข้างต้น สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องการให้เกิดนวัตกรรมการจัดการศึกษาและการขับเคลื่อนจากข้างล่างขึ้นมา ไม่ได้ทำเสื้อโหลให้ทุกคนใส่ ที่ผ่านมาจึงใช้กลไกขับเคลื่อนการทำงาน ศธ. ด้วยรูปแบบนี้ ซึ่งจะเห็นได้จากช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้เน้นกลไกการทำงานในระดับภาคให้มีความเข้มแข็งที่สามารถทำงานสอดคล้องกับระเบียบและสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และส่งผลให้บุคลากรมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันมากขึ้นโดยลำดับ

บุคลากรในระดับสำนักงานศึกษาธิการภาค/จังหวัด จึงควรมีองค์ความรู้ในเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะจะเป็นหลักการทำงานให้แก่หน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน แต่หากเราทำงานโดยไม่มีองค์ความรู้ ก็จะไม่ก่อประโยชน์ให้กับการทำงาน เพื่อขับเคลื่อน กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ

ดังนั้น สำนักงานศึกษาธิการภาคทั้ง 6 ภาค ควรได้รับการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจนส่งผลให้ระบบต่าง ๆ แข็งแรงขึ้น เห็นภาพของความสำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ปัญหาที่ผ่านมาหน่วยงานการศึกษายังไม่ได้นำแผนการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติมาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แต่วันนี้เราจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะโดยกฎหมายบังคับให้ดำเนินการ หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการ หรือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้แก้ไขปรับปรุงแล้ว แต่ไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ได้กำหนดขั้นตอนการลงโทษไว้ว่า ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการ เช่น สั่งให้พักราชการ พักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการ หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และหากไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของหน่วยงานรัฐเป็นผลมาจากมติหรือการดำเนินการของ ครม. ให้วุฒิสภาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของ ครม. หรือการดำเนินการของ ครม.นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อเพื่อลงโทษ

นายอำนาจ กล่าวให้ข้อคิดเกี่ยวกับการศึกษาด้วยว่า ไม่ใช่แค่การเรียนหนังสือ แต่การศึกษาคือการเรียนรู้  จึงขอฝากความหวังไว้กับศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และบุคลากร ศธ. ในการขับเคลื่อน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองต่อไป

นางสาวนิติยา หลานไทย ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. ปฏิบัติหน้าที่รองหัวหน้ากลุ่มขับเคลื่อน ป.ย.ป.ศธ. กล่าวถึงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของกลุ่ม ป.ย.ป.ศธ. ว่า แบ่งโครงสร้างเป็น 5 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1) กลุ่มอำนวยการ 2) กลุ่มนโยบายและความร่วมมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 3) กลุ่มแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 4) กลุ่มติดตาม และประเมินผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 5) กลุ่มสื่อสาร และเลขานุการคณะทำงานขับเคลื่อน ป.ย.ป.ศธ.

โดยมีอำนาจหน้าที่ คือ
1) เป็นศูนย์บัญชาการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศของกระทรวง
2) เป็นแกนกลางประสานงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศ
3) งานเลขานุการของคณะทำงานขับเคลื่อนในระดับกระทรวง
4) เป็นเจ้าภาพในการกำกับติดตามการดำเนินการของส่วยราชการ และหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ
5) จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด
6)ประเมินผลและจัดทำรายงานการดำเนินการของกระทรวงในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
7) ประสานเร่งรัดและให้คำปรึกษาแนะนำแก่ส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัด
8) เผยแพร่และสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวง
9) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

อนึ่ง การประชุมครั้งนี้มีวิทยากรให้ความรู้ เช่น ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. และคณะ ในเรื่อง “การนำเข้าข้อมูลระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ : eMENSCR” และคุณจันทวรรจ์ หรรษาภิรมย์โชค เป็นวิทยากรเรื่อง “องค์ความรู้กระบวนการพัฒนาระบบนวัตกรรม Design Thinking” ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายละเอียดเอกสารประกอบการประชุมฯ ผ่าน QR Code ตามที่ปรากฏนี้

Written by อานนท์ วิชานนท์
Photo Credit กิตติกร แซ่หมู่
Rewriter/Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร