ครม.สัญจรภาคกลาง

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2561 (ภาคกลางตอนล่าง) ที่สมุทรสาครและเพชรบุรี โดยติดตามผลความร่วมมือจัดหลักสูตรการเรียนการสอนสายอาชีพร่วมกับภาคเอกชน ที่สถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมมอบแนวทางการพัฒนาครูและท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลิตกำลังคนของประเทศ ช่วยกันรวมพลังคณะครุศาสตร์ของ มรภ.ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของประเทศด้านการผลิตครู

– ติดตามผลความร่วมมือจัดหลักสูตรการเรียนการสอนสายอาชีพร่วมกับภาคเอกชน

ในช่วงเช้าของวันนี้ (5 มี.ค.61) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนสายอาชีพของสถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

นายภักดี ฐานปัญญา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย มีจำนวนนักเรียนนักศึกษา 3,300 คน แบ่งเป็น ระดับเตรียมอาชีวศึกษา 200 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2,600 คน และระดับปริญญาตรี 500 คน

ขณะนี้ประสบปัญหาสำคัญใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ด้านการคัดเลือกและสรรหาครูอาจารย์ทำได้ยากและไม่เพียงพอ โดยเฉพาะครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ อีกทั้งยังไม่สามารถสรรหาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกได้ เพราะไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนด เช่น ผลงานวิจัย เป็นต้น จึงขอให้ สกอ. พิจารณาทบทวนหรือเพิ่มความยืดหยุ่น เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์สูงมาช่วยถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูงให้แก่ผู้เรียน เช่น การเทียบประสบการณ์ทำงานกับคุณวุฒิทางการศึกษา เป็นต้น  และในส่วนที่สองคือ การพิจารณาถึงหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำหรับผู้เรียนสาขาวิชาอื่น นอกเหนือจากสาขาที่เป็นความจำเป็นและขาดแคลน

นอกจากนี้ ผู้แทนภาคเอกชนยังได้สะท้อนถึงคุณภาพของบัณฑิตด้วยว่า ยังขาดทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่สามารถอ่านโปรแกรมการทำงานต่าง ๆ ได้ ตลอดจนไม่มีทักษะเพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการ ต้องฝึกทักษะเพิ่มเติมอีก 2-3 ปี ซึ่งในความเป็นจริงภาคเอกชนไม่ได้ต้องการคนเก่งมาก แต่ต้องการคนที่มีความรับผิดชอบ กระตือรือร้น และพัฒนาได้

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า การกำหนดให้คุณวุฒิอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ต้องมีผลงานวิจัยเป็นข้อกำหนดตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร หากจะขอยกเว้นก็อยู่ในอำนาจของ สกอ. แต่อาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณีและคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ในหลายด้านประกอบกัน ส่วนการใช้ประสบการณ์ทำงานมาเทียบคุณวุฒิทางการศึกษานั้น ได้ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ ประสบการณ์การทำงานมากกว่า 25 ปี เทียบเท่าวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท หรือตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นต้น โดยสามารถส่งรายละเอียดให้ สกอ. ดำเนินการเทียบวุฒิได้ทันที

เช่นเดียวกับการกู้ยืมเงินจาก กยศ. เพื่อช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สถาบันอุดมศึกษาต้องเสนอหลักสูตรสาขาขาดแคลนมาให้ สกอ. รับรอง จากนั้นจะส่งต่อไปยัง กยศ. สำหรับจัดสรรเงินกู้ให้ต่อไป

นพ.อุดม คชินทร  รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่ได้รับฟังปัญหาและอุปสรรค ก็รู้สึกเห็นใจ พร้อมจะมอบให้ สกอ. พิจารณาปรับและผ่อนปรนกฎเกณฑ์การคัดเลือกอาจารย์ โดยเฉพาะคุณสมบัติด้านผลงานวิจัย เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีผลงานวิจัยตามเกณฑ์ แต่อาจไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ต่อการสอนหรือพัฒนา ซึ่งในอนาคตสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคในการสร้างหลักสูตรพันธุ์ใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ

ส่วนทักษะภาษาอังกฤษ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ ศธ. กำลังเร่งยกระดับและพัฒนา เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศสามารถสื่อสารได้ โดยในเบื้องต้นทุกคนต้องปรับ Mindset และเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสื่อสารของโลกก่อน ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงควรจัดทดสอบทางภาษาก่อนจบการศึกษา เพื่อเป็นทักษะติดตัวในการทำงาน มิฉะนั้นต่อให้เก่งเพียงใด หากสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ ความเก่งจะลดเหลือครึ่งหนึ่งทันที

นอกจากนี้ ศธ. มีแนวทางที่จะพัฒนาหลักสูตรอาชีวะพันธุ์ใหม่ (อาชีวะพรีเมียม) ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในสถานที่จริง ฝึกปฏิบัติงานจริง มีทักษะติดตัวตามความต้องการตลาดเมื่อจบการศึกษาแล้ว โดยร่วมมือกับภาคเอกชนให้มาช่วยสอน รับเด็กเข้าไปเรียนในสถานประกอบการจริง ๆ ให้มากขึ้น ตามภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า สำหรับการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เห็นด้วยว่าควรได้รับการสนับสนุนเช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพราะการศึกษาของประเทศจะพึ่งภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ควรเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเป็นพลังพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้า สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

– ติดตามการดำเนินงานการพัฒนาท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อ.เมืองเพชรบุรี โดย ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี คณาจารย์ และนักศึกษา ให้การต้อนรับและร่วมรับฟัง

ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม  อธิการ มรภ.เพชรบุรี กล่าวว่า มรภ.เพชรบุรี ตระหนักถึงพันธกิจในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเอกลักษณ์ด้านอาหารและการท่องเที่ยว ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพมุ่งสู่สากล ควบคู่กับการวิจัย ให้บริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม เสริมสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมไปถึงสืบสานส่งเสริมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสู่ชุมชนและสังคม โดยได้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นใน 8 คณะ ภายใต้โครงการ “1 คณะ 1 อำเภอ” ร่วมกับชุมชนมากว่า 7 ปีแล้ว ทั้งคณะครุศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “ภายในปี 2562 จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีความโดดเด่นด้านอาหารและการท่องเที่ยว”

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับด้านสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชาวเมืองเพชร คือ การตั้งสถาบันช่างเมืองเพชร เพื่ออนุรักษ์ศิลปะการแทงหยวกให้คงอยู่สืบไป สำหรับการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา มรภ.เพชรบุรี ยังเป็นศูนย์ฝึกครูตำรวจตระเวนชายแดน ที่สอนอยู่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 11 แห่ง ของ จ.เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีบริเวณชายแดนติดกับเมียนมา และเด็กส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ โดยจะใช้ระยะเวลาในการฝึก 7 เดือน เพื่อกลับไปสอนในโรงเรียน เชื่อว่าจะส่งผลด้านความมั่นคงและด้านสังคมที่ดีขึ้น และเป็นโรงเรียนกองทุนเพื่อการศึกษา สำหรับนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาพื้นที่เพชรบุรี 14 แห่ง เมื่อจบแล้ว จะได้อยู่และทำงานพัฒนาบ้านเกิดและชุมชน เป็นการช่วยแก้ปัญหาการย้ายถิ่นของข้าราชการพลเรือนและกำลังคน

นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.มีนโยบายสำคัญในการปฏิรูปอุดมศึกษา “โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่” โดยขอเชิญชวนมหาวิทยาลัยมาช่วยกันยกระดับและพัฒนาคน ต่อยอดจากฐานเดิมที่มีอยู่ตามความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เป็นความต้องการของประเทศ ไม่จำเป็นต้องรอนักเรียนจบระดับมัธยมศึกษาอย่างเดียว สามารถจัดหลักสูตร 2 ปี เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับคนทำงานควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยควรนำความต้องการของตลาดและภาคอุตสาหกรรมใหม่เป็นที่ตั้ง คือ การผลิตคนที่ทำงานได้ทันที ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ และมีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มข้นตลอดการผลิต เพื่อสร้างคน 4.0 ให้กับประเทศ เมื่อนั้นจึงจะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของคน ส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจและผลิตมวลรวมในประเทศขยับสูงขึ้น

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด ที่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุนด้านการอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกที่จะสนับสนุนมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย โดยจะสนับสนุนงบประมาณแก่มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ที่มีผลลัพธ์การผลิตกำลังคนตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือมีสาขาวิชาที่โดดเด่นในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ จึงฝากให้ช่วยกันพิจารณาหาแนวทางเพื่อคงความเป็นรากเหง้าของ มรภ.ไว้ให้ได้ คือ “การผลิตครูที่มีคุณภาพสูง มีทัศนคติที่ดี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลิตกำลังคนของประเทศ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ไปจนถึงอุดมศึกษา” ขอให้รวมพลังช่วยกันทวงคืนความเป็นเบอร์ 1 ในการผลิตครูของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กลับมาให้ได้โดยเร็ว

ในโอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมศูนย์ข้าวชุมชน ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด หนึ่งในวิสาหกิจชุมชนที่เป็นความร่วมมือระหว่างชุมชนกับ มรภ. ผลิตข้าวอินทรีย์แบบครบวงจร ส่งผลต่อรายได้และสุขภาพของคนในชุมชน

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
7/3/2561