ครม.สัญจร ภาคกลาง
เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการจัดการเรียนอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ
• ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัย-ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่ วษท.สุพรรณบุรี
เวลา 8.30 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยและพัฒนาการเพาะอาหารสัตว์น้ำ และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี (วษท.) อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า ขอให้ผู้บริหารทุกระดับร่วมขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม ตามกรอบแนวคิด 5 ประการ กล่าวคือ ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และอุดมการณ์คุณธรรม พร้อมถ่ายทอดขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่นในพื้นที่และจังหวัด เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ตลอดจนถึงน้อมนำพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การศึกษามุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง, มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม, มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี
นอกจากนี้ ขอให้จัดการศึกษาโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน พร้อมร่วมมือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ในการให้ความรู้ความเข้าใจกับนักเรียน เพื่อส่งเสริมศักยภาพแรงงานให้ผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการและมีความรู้ที่แท้จริง รวมทั้งพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ ทั้งด้านเกษตรกรรม ประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เพื่อผลิตอาหารที่มีมาตรฐานปลอดภัย ตลอดจนถึงพัฒนาฟาร์มตัวอย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและเกษตรกรได้มาศึกษาดูงาน
ในส่วนของงานประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นต่อการนำเสนอองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ของวิทยาลัยให้สังคมได้รับรู้ โดยจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นให้ช่วยกระจายข่าว เผยแพร่ผลงานเด่นด้านการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของวิทยาลัยออกไปในวงกว้างมากขึ้น ที่นอกจากจะช่วยสร้างการรับรู้ ต่อยอดการพัฒนาท้องถิ่น สร้างงานสร้างอาชีพแก่ลูกหลานเยาวชนในอนาคตแล้ว ยังสามารถเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวะมากขึ้นด้วย จึงขอฝากให้มีการประสานงานเพื่อเข้าไปแนะแนวการเรียนต่ออาชีวะในโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย
ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการของวิทยาลัย เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่จะต้องติดตาม สนับสนุน และขบคิดร่วมกันเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ทั้งการพัฒนาครูคณาจารย์ ผู้มีความตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละเพื่อพัฒนาลูกศิษย์อย่างเต็มที่ ให้ได้อยู่ดีมีความสุข, งบประมาณในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมรองรับการขับเคลื่อนประเทศ การจัดการศึกษารองรับเด็กพิการ ตลอดจนปรับปรุงหอพักนักเรียนให้เพียงพอกับความต้องการ
นายถาวร ทิพวรรณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี กล่าวรายงานการดำเนินงาน มีใจความตอนหนึ่งว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี เป็น 1 ใน 10 แห่งของสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง ปัจจุบันจัดการเรียนการสอน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ใน 6 แผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาพืชศาสตร์, แผนกวิชาสัตวศาสตร์, แผนกวิชาประมง, แผนกวิชาธุรกิจเกษตร, แผนกวิชาสามัญสัมพันธ์ และแผนกวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มีนักเรียนนักศึกษา รวม 597 คน มีครูและบุคลากร รวม 79 คน โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญหลายประการ อาทิ
– การปรับแผนการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ
– โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงอาหารสัตว์น้ำมีชีวิต สู่เกษตรกรรุ่นใหม่ยุค THAILAND 4.0 พร้อมขยายผลเป็น Smart Farming โดยได้เพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำ ทั้งไรแดง ไรน้ำนางฟ้า กุ้งพิ้งค์สุพรรณ เป็นต้น โดยเฉพาะไรน้ำนางฟ้า ซึ่งเป็นการค้นพบสัตว์น้ำชนิดใหม่ของโลก สำหรับเป็นอาหารสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาสวยงาม ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 350-450 บาท
– การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่ออบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และศาสตร์พระราชาสู่นักเรียนนักศึกษาในวิทยาลัยและโรงเรียนประถมศึกษาในเครือข่าย ตลอดจนเกษตรกรและประชาชนในชุมชน โดยเน้นการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมด้านการเกษตร ด้วยสื่อ เทคโนโลยี และวิทยาการสมัยใหม่ ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่
• บรรยายศาสตร์พระราชากับพัฒนาการทางการศึกษา
เวลา 11.30 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ พบปะสนทนากับผู้บริหาร คณาจารย์ และลูกหลานนักเรียนโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย พร้อมบรรยายพิเศษ “ศาสตร์พระราชากับพัฒนาการทางการศึกษา และสืบสานพระราชปณิธานโรงเรียนคุณธรรม” ที่หอประชุมโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ในยามที่ประเทศกำลังเตรียมงานพระราชพิธีสำคัญในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ขอให้ทุกคนโดยเฉพาะลูกหลานเยาวชน มีความเข้มแข็ง ยึดแนวคิดของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นหลักในการดำรงชีวิต ตั้งใจหมั่นศึกษาเล่าเรียน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนยึดมั่นหลักคำสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นต้นแบบของปวงชนชาวไทย ในเรื่องของความพอเพียง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์และสุจริต และในอนาคตภายภาคหน้า อยากเห็นคนไทยรักและหวงแหนแผ่นดิน ตลอดจนเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งมีความเฉพาะ เกิดจากการสั่งสมความดีงามมาอย่างยาวนาน เพื่อให้คงอยู่กับประเทศเราสู่รุ่นลูกหลานสืบไป
นอกจากนี้ ขอฝากแนวคิดเพื่อนำไปปรับใช้ตามกาลเทศะ 4 ส่วน คือ Protocol: มีระเบียบวิธี, Etiquette: จริยธรรมและจารีตทางความคิดที่ดี, Manners:มารยาทจรรยา, Education การศึกษา (Education)
ซึ่งหากสามารถผสานทั้ง 4 ส่วน เข้ากับการทำงาน การดำรงชีวิต เราก็จะมีสถานศึกษาที่ดี และประเทศก็จะน่าอยู่ สงบร่มเย็นมากขึ้น
• เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานอาชีวะ
เวลา 14.30 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวชื่นชมสถานศึกษาในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งของรัฐและเอกชน ที่สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาผนวกเข้ากับการเรียนการสอนของลูกหลานนักเรียนนักศึกษาในสาขาต่าง ๆ ให้พัฒนาเท่าเทียมและเท่าทันวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษา ที่จะเป็นการสร้างชื่อเสียงสู่วิทยาลัยและประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน เกิดความเข้าใจกัน มีความรู้วิทยาการที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล ตลอดจนเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรม ความเป็นไทยที่ติดตัวลูกหลานไปในตัว
ขอฝากถึงลูกหลานเยาวชนทุกคน ว่าอย่าย่อท้อต่อการทำความดี ขอให้ยึดหลักรู้รักสามัคคีเป็นที่ตั้ง และไม่ควรทะเลาะเบาะแว้งกัน ให้พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ส่วนกระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามที่จะหารือเพื่อลดความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าในอนาคตอาจต้องมีการทบทวนเกี่ยวกับการเผยแพร่สื่อหรือภาพยนตร์ที่มีความรุนแรง และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเรตติ้งให้มากขึ้น เพราะภาพและภาษาของความรุนแรงจากสื่อต่าง ๆ อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนก็เป็นได้
นอกจากนี้ ขอให้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียด้วยความรับผิดชอบ เฉกเช่นประเทศสิงคโปร์ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้สื่อโซเชียลด้วยความรับผิดชอบ โพสต์แต่สิ่งที่ดีงามถูกต้อง โดยไม่มีกฎหมายบังคับ และจะไม่ปฏิสัมพันธ์กับคนที่โพสต์ว่ากล่าวผู้อื่น หรือใช้โซเชียลมีเดียอย่างไม่รับผิดชอบ จึงฝากให้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา แชร์ข้อมูลวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ เผยแพร่ผลงานกิจกรรมต่าง ๆ หรือเพื่อสร้างความรักความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นในวิทยาลัยให้มากขึ้น
ภายหลังการบรรยาย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงาน นวัตกรรม และความก้าวหน้าการจัดการเรียนการสอนจากสถานศึกษาในสังกัด สอศ. รวม 14 แห่ง ซึ่งมีผลงานที่โดดเด่นมากมาย อาทิ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา: นิทรรศการรถไฟฟ้าพลังงานสะอาด โครงการอยุธยาโมเดล โครงการสิ่งประดิษฐ์และหุ่นยนต์ครูดีศรีแผ่นดิน การฝึกงานไทย-จีน ไทย-อินโดนีเซีย ไทย-มาเลเซีย, วิทยาลัยอาชีวศึกษาพระนครศรีอยุธยา: การเรียนการสอนสายเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการโรงแรม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร: โครงงานวิทยาศาสตร์ อาชีวศึกษา-เอสโซ่, วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา: งานต่อเรือจำลอง, วิทยาลัยเทคโนโลยีอยุธยา: รถประหยัดพลังงาน, วิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา: การเรียนการสอนในเรือนจำ ร่วมกับกรมราชทัณฑ์, วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจอยุธยา: อาชีวศึกษาวิถีพุทธ เป็นต้น
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
18/9/2560