ครม.สัญจร
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในจังหวัดหนองบัวลำภู “โรงเรียน ฒ ผู้เฒ่า” ณ พื้นที่ดำเนินงานโครงการบริเวณตำบลบ้านพร้าว อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่โรงเรียนบ้านหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี
ในภาคเช้า
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า ดีใจที่พื้นที่แห่งนี้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงวัย วันนี้ประเทศต้องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา ซึ่งต่อไปข้างหน้าโรงเรียนจะไม่ได้เป็นสถานที่เพียงสอนหนังสืออย่างเดียว แต่จะเป็นศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การแก้ปัญหาชุมชน เป็นที่พึ่งของชุมชน หรือเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าการเรียนการสอนอาจจะไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนระบบการศึกษา หรือนักเรียนเข้ามาเรียนในโรงเรียน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะก้าวเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ อีกทั้งในวันนี้มีเด็กหายออกจากห้องเรียนจำนวนมาก เพราะอัตราการเกิดของเด็กลดลงลงอย่างมาก แม้แต่จำนวนที่นั่งเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ ก็ยังมีที่นั่งว่างจำนวนมาก
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับตัว เพราะเด็กประถม/มัธยมสมัยนี้มีการเรียนรู้ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ เราจึงต้องจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่ โดยโรงเรียนและครูผู้สอนยิ่งต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพียงสอนหนังสือ แต่ต้องส่งเสริมในด้านต่าง ๆ แก่ผู้เรียน โดยดึงศักยภาพของเด็กให้ไปสุด ๆ ในด้านที่เด็กคนนั้นชอบให้ได้ โรงเรียนจึงต้องเป็นสถานที่จะเปลี่ยนอนาคตลูกหลานไทยให้มีอนาคตทันโลก ทันเทคโนโลยีให้ได้
ทั้งนี้ คนวัยแรงงานที่มีจำนวนประมาณ 40-50 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมไปด้วย
นอกจากนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 20% และในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุเป็น 25% หรือสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศ ดังนั้น หากเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาผู้เรียนหรือคนวัยทำงาน ประเทศจะอยู่ไม่ได้ เพราะจะขาดตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น เราจึงจำเป็นต้องนำคนวัยแรงงานที่ยังมีศักยภาพไม่พอ กลับมาเรียนใหม่แบบไม่เป็นทางการ เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้แต่คนสูงอายุก็อาจจะต้องกลับไปเรียนหลักสูตรระยะสั้น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีทักษะและสมรรถนะที่เข้ากับตลาดแรงงานสมัยใหม่ได้ ซึ่งการที่คนสูงอายุสามารถทำงานได้ ก็จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นด้วย
“วิทยาลัยชุมชนสามารถเข้ามาเชื่อมโยงรูปแบบการจัดการศึกษาเหล่านี้กับท้องถิ่นได้ ให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกช่วงวัย และศูนย์พัฒนาทักษะสมรรถนะเพื่อสร้างให้คนไทยเป็นคนไทย 4.0 ที่ทันเทคโนโลยี จึงขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน เพราะลำพังจะให้แต่กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาเพียงอย่างเดียวคงจะไม่สำเร็จ เพราะมีโรงเรียนต้องดูแลมากกว่า 30,000 โรงเรียน ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมพัฒนาโรงเรียนที่ดีให้เกิดขึ้นในแต่ละตำบล ดังเช่นโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ เพื่อให้โรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกันทั่วทั้งประเทศ”
โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ต้องการที่จะยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาของทั้งประเทศ และต้องการที่จะเป็นโรงเรียนที่เตรียมอนาคตของลูกหลานคนไทยให้เป็นคนไทย 4.0 เป็นคนไทยที่มีความรู้ทักษะและสมรรถนะ สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นคนไทยที่ทันสมัย ทันโลก ทันเทคโนโลยี ที่สำคัญก็คือโรงเรียนร่วมพัฒนาจะเป็นโรงเรียนที่ “เตรียมวิชาชีพ” ให้กับเด็ก โดยที่ไม่ต้องรอว่าจะต้องจบมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษาจึงจะมีวิชาชีพได้ แต่โรงเรียนร่วมพัฒนาจะเป็นแหล่งเรียนรู้ในการที่จะพัฒนาเรื่องของทักษะ สมรรถนะ และคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมีความเชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่นหรือหลาย ๆ ท้องถิ่นเข้ามาช่วยสอน ในขณะเดียวกันเราจะไปช่วยแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วย
ที่สำคัญโรงเรียนร่วมพัฒนาจะเป็นศูนย์ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน ทำให้หลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไป การใช้ชีวิตของเราก็เปลี่ยนไป แม้แต่กระบวนการคิด การเรียนรู้ของเราก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นโรงเรียนร่วมพัฒนาจะต้องเข้าไปช่วยคนในชุมชน เข้ามายกระดับสมรรถนะและทักษะต่าง ๆ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงข้างหน้าได้
“โรงเรียนร่วมพัฒนา” จึงเป็นรูปแบบการบริหารจัดการที่กระทรวงศึกษาธิการให้อิสระ 3 อย่าง คือ
1) อิสระในการออกแบบหลักสูตร อาจเป็นหลักสูตรที่ไม่เคยสอนมาก่อน หรือเป็นหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์อนาคตของการเปลี่ยนแปลงข้างหน้า
2) อิสระในการปรับกระบวนการเรียนการสอนใหม่ การเรียนในห้องเรียนจะต้องลดลง และเพิ่มการเรียนในสถานที่จริงให้มากขึ้น ให้ทำงานได้จริง ให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น ให้เด็กมีจินตนาการสามารถไปสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ได้ ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดเน้นที่สำคัญมาก
3) อิสระในการบริหารงานที่คล่องตัว ในเรื่องของการเงิน ทรัพยากรบุคคล ฯลฯ
“เพราะฉะนั้นเราจึงกำหนดว่าโรงเรียนร่วมพัฒนา ประธานกรรมการสถานศึกษาจะต้องเป็นภาคเอกชน เช่น โรงเรียนบ้านหนองนาคำ ได้กลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาสนับสนุน ซึ่งทำให้เกิดพลังมหาศาล และจะช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศสูงขึ้นได้อย่างจริงจัง จึงต้องการให้โรงเรียนเหล่านี้เป็นต้นแบบที่จะพัฒนาต่อไปอีก 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศต่อไป การศึกษาจะไม่ใช่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายเดียว แต่ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาช่วยกันดูแลสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะเกิดผลสำเร็จอย่างแน่นอน เพื่ออนาคตของประเทศเรา เพื่อลูกหลานของพวกเราทุกคน”
Photo Credit