ครูกัลยา ผนึกกำลัง 6 หน่วยงานการศึกษาวิทยาศาสตร์ ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อน “วิทยาศาสตร์พลังสิบ” พร้อมเริ่มปีการศึกษา 2564

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดยมี นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), นายวิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, นางปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, นางสาวดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในฐานะผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร

 width=
 width=
 width=
 width=
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. และรักษาราชการแทน รมว.ศธ. กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน (Peer Learning Network) โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เป็นระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2573) วงเงิน 9,619 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุดภายในปีการศึกษา 2564

ทั้งนี้ จะมีการเริ่มต้นคัดเลือกสถานศึกษา จำนวน 200 โรงเรียน มาพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี แบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 100 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 100 โรงเรียน เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่าย จำนวน 2,000 โรงเรียน โดยแต่ละศูนย์ฝึกอบรมจะดูแล จำนวน 10 โรงเรียนเครือข่าย

โดยจะฝึกอบรมและพัฒนาครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้นักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามมาตรฐานโครงการ โดยจะมีนักเรียนในโครงการที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 234,000 คน สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 234,000 คน และสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 234,000 คน

นอกจากนี้ สสวท. มีหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานและหลักสูตรของโครงการ ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น โดยอบรมและพัฒนาครูร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเครือข่ายเพื่อพัฒนาครูผู้สอน พร้อมทั้งจะมีการวิจัยหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับสถานศึกษาในโครงการ โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาครูและสะเต็มศึกษาสำหรับการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 มาร่วมส่งเสริมโครงการอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีหลักสูตรสำหรับพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ฯ ทุกระดับชั้น พร้อมทั้ง มีหลักสูตรอบรมครูที่หลากหลายรูปแบบ ระบบการอบรมครูผ่านออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับครูทุกคน และมีคลังเครื่องมือการวัดประเมินผลที่เทียบมาตรฐานสากล (PISA) และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย ที่พร้อมจะนำไปส่งเสริม สนับสนุนได้อย่างเหมาะสม เพียงพอและมีประสิทธิภาพสำหรับโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบต่อไป

สุดท้ายนี้ โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ยังได้รับการสนับสนุนจาก ทปอ. ทปอ.มรภ. และ สวทช. อีกด้วย โดยทั้งสามหน่วยจะช่วยสนับสนุน กำกับ และติดตามการใช้หลักสูตรด้วยกระบวนการเครือข่ายชุมชนพัฒนาวิชาชีพ หรือ PLC รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงหรืออาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานแก่นักเรียนในโครงการ และให้คำปรึกษาแก่โรงเรียนเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมพัฒนานักเรียน ตลอดจนร่วมพัฒนาศักยภาพนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษามีประสบการณ์สอนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและมีส่วนร่วมการกำกับและติดตามกระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบด้วย

 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
11/3/2564