ครูกัลยา ย้ำผู้บริหารการศึกษา 77 จังหวัด เร่งขับเคลื่อนแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ เล็งเห็นผลภายในปี 64

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 ทั้ง 77 จังหวัด เข้าร่วม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ





คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. และรักษาราชการแทน รมว.ศธ. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงานเพื่อเยาวชนและประเทศชาติ โดยส่วนตัวก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาจากระบบการศึกษาของไทย และเป็นตัวอย่างของการได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัด จนกระทั่งประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้ จึงสามารถกล่าวได้ว่า “จากโรงเรียนวัด สู่ทำเนียบรัฐบาล”
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการจัดการศึกษาจังหวัด ในฐานะรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องขอขอบคุณ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่คิดค้นและทุ่มเทแรงกายแรงใจ ริเริ่มโครงการดี ๆ เพื่อเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่เต็มกำลังความสามารถ โดย ศธ. พร้อมจะเดินหน้า ขับเคลื่อน สานต่อนโยบายบูรณาการด้านการศึกษาให้มีความต่อเนื่อง และทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน
ซึ่งในขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำการคัดเลือกโรงเรียน จำนวน 349 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนคุณภาพของชุมชนจำนวน 183 โรงเรียน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองจำนวน 77 โรงเรียน และโรงเรียน Stand Alone จำนวน 89 โรงเรียน เพื่อเสนอของบประมาณในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในปีงบประมาณ 2565 เรียบร้อยแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็ได้ทำการคัดเลือกโรงเรียนนำร่องที่สามารถเป็นต้นแบบของโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone แบ่งเป็น 5 ภูมิภาค จำนวน 15 โรงเรียน โดยให้แต่ละโรงเรียนเขียนโครงการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนั้น เพื่อเสนอของบประมาณปี 2564 ภายใต้กรอบวงเงินโรงเรียนละไม่เกิน 2,000,000 บาท ส่วนโรงเรียนอีกจำนวน 334 โรงเรียน จะได้รับงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนละไม่เกิน 400,000 บาท
“การยกระดับคุณภาพการศึกษานั้น ต้องการให้ความสำคัญกับพัฒนาทั้งรูปแบบการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาคุณภาพครูผู้สอน การจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย และการพัฒนาเชิงกายภาพเป็นหลัก ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนและทุกหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะทุกท่านจะได้รับผลิตผลด้านการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อไปทำงานและเป็นกำลังคนที่สำคัญของประเทศ เราจะก้าวข้ามวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างคนให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ จึงขอฝากความหวังไว้กับพวกเราทุกคน ในการร่วมกันขับเคลื่อนและสานต่อนโยบายบูรณาการการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนต่อไป” คุณหญิงกัลยา กล่าว























ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
15/3/2564