ครูกัลยา ร่วมประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 51 (51th SEAMEO Council Conference: SEAMEC)

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ครั้งที่ 51 (51th SEAMEO Council Conference: SEAMEC) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมด้วย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้อำนวยการ และเจ้าหน้าที่จากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

 width=
 width=
 width=
 width=
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ และกล่าวเปิดโดย H.E. Dr. Radzi Jidin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซีย ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคราวการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 50 ที่มาเลเซีย เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2562 และมีกำหนดครบวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2564 โดยในช่วงของการเลือกตั้งประธานสภาซีเมค ครั้งที่ 51 (ประธานการประชุมฯ) และรองประธานสภาซีเมค ครั้งที่ 51 (รองประธานการประชุมฯ) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมเสนอชื่อ H.E. Mr. Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค ครั้งที่ 51 และประธานการประชุมฯ โดยมี สปป.ลาว ให้การสนับสนุน และอินโดนีเซียได้ร่วมเสนอชื่อ H.E. Dr. Leonor Magtolis Briones รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาซีเมค ครั้งที่ 51 (รองประธานการประชุมฯ) โดยมีบรูไนดารุสซาลามให้การสนับสนุน

รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวอภิปรายเรื่อง “Education as an Uplifting Force” โดยกล่าวถึงความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อกระทรวงศึกษาธิการทั่วโลก จนทำให้ต้องปรับตัวในการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการเรียนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ทั้งนี้ ครู นักเรียน ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ซึ่งหมายถึงการมุ่งเน้นการลงทุนในด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการลงทุนและการดูแลนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและขาดโอกาสเป็นพิเศษ

ในขณะเดียวกันการแปลงสู่ระบบดิจิทัล จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ที่ทำให้ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงความรู้ทุกอย่างได้ทันท่วงที และนักเรียนจะมีโอกาสได้ลองฝึกปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน จนสามารถรับรู้ถึงข้อผิดพลาดและความจำเป็นในการแก้ไข โดยมีครูคอยให้ความช่วยเหลือตามขอบข่ายความต้องการของนักเรียน

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับประเด็น “การไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง” เพราะเด็กทุกคนจะต้องเติบโตเต็มตามศักยภาพ มีรายได้เพียงพอ มีความรับผิดชอบ และเพลิดเพลินกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น โรงเรียนจึงควรปรับเปลี่ยนการบริหารงาน โดยใช้ระบบและรูปแบบดิจิทัล ส่วนกระทรวงศึกษาธิการต้องเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล เพื่อช่วยลดภาระของครู ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน เพื่อให้ครูสามารถทุ่มเทเวลาในการชี้แนะ และสอนให้กับนักเรียน รวมทั้งช่วยให้ครูสามารถประเมินผลงานตนเอง ระบุขอบข่าย และจุดเน้นที่ต้องการฝึกอบรมเพิ่มเติมได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของครู

ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานในระดับสูงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการบรรลุผลสำเร็จจำเป็นต้องเรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดี มีการประเมินค่า และปรับปรุงในสิ่งที่ตนเองทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้อำนาจครูและเจ้าหน้าที่การศึกษา เพื่อสร้างความท้าทาย ตลอดจนการบริหารงานเพื่อให้เติบโตและประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องไม่ละเลยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับปฐมวัย โดยการแนะนำหลักสูตรและการควบคุมศูนย์ดูแลเด็ก

รมช.ศึกษาธิการ ยังกล่าวถึงการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มีการนำหลักสูตรโค้ดดิ้ง (Coding) ไปใช้กับครูในโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เพื่อให้เข้าใจในเรื่องของการให้เหตุผล ความเป็นเหตุและผล กระบวนการทางความคิด และความคิดที่สมเหตุสมผล รวมทั้งได้มีการดำเนินการในเรื่องของการเรียนโค้ดดิ้งโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ (Unplugged Coding) ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมาก พร้อมทั้งได้กล่าวแสดงความคาดหวังว่า ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนการศึกษาและองค์การซีมีโอ จะได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศอื่น ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการ

ท้ายสุดของการประชุม SDEM ครั้งที่ 5 รัฐมนตรีศึกษาของประเทศสมาชิกซีมีโอแห่งสภาองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ได้ร่วมกันประกาศข้อพันธกิจสู่การปฏิบัติร่วมกัน โดยลงมติรับรองถ้อยแถลงสิงคโปร์ (Singapore Statement) ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์และภาคีหุ้นส่วน ในฐานะผู้ขับเคลื่อนที่มีทบาทสำคัญต่อการพลิกโฉมการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างหลักประกันว่า ทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และไม่ทิ้งผู้เรียนคนใดไว้ข้างหลัง

โอกาสนี้ ในการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 51 ยังได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัล SEAMEO-Japan ESD Award รางวัล SEAMEO-Australia Education Links Award (รางวัลชนะเลิศเป็นของนักวิจัยชาวไทยและอินโดนีเซีย) และรางวัล SEAMEO Service Award รวมทั้งการเปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ซีมีโอ ปี 2564-2573 ด้วย

 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
ขอขอบคุณข้อมูล สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ.
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
18/6/2564