
เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสแก่เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส สู่การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน: STI ในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี นายศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานติดตามและแผนงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายภูวนาท มูลเขียน ศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายวุฒิศักดิ์ เหล็กคำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เข้าร่วม
– โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์
รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้ตรวจพื้นที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 เป็นจุดแรก โดยมี นางชุติพร เหล็กคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ ถือได้ว่าเป็นสถานศึกษาที่มีการบริหารจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นหน่วยงานที่มีความเข้มแข็งในการพัฒนาการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องและเด็กยากจน และด้อยโอกาสของจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องและตอบสนองนโยบายของ ศธ. ในการพัฒนาคนทุกช่วงวัย การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงการบริการของรัฐ ทำให้เด็กได้มีโอกาสทางด้านการศึกษาตามหลักสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสิทธิที่จะได้รับการศึกษาตามอัตภาพ และขอแสดงความขอบคุณบุคลากรทุกท่านที่มีความเสียสละ และทุ่มเท ให้ความช่วยเหลือและดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่ มุ่งสร้างพื้นฐานแก่นักเรียน 4 ด้าน คือ การมีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง การมีงานทำ และการเป็นพลเมืองที่ดีในสังคม
ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน และความเป็นอยู่ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 อาทิ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพืช ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้พาณิชย์และบริการ และความเป็นอยู่ของหอพักนักเรียน เป็นต้น
– โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดเพชรบูรณ์
ต่อมาช่วงบ่าย รมช.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี นายประจวบ ลังกาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในยุคศตวรรษที่ 21 ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความผันผวนอย่างรวดเร็ว เด็กต้องต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีความสุข ได้เรียนในสิ่งที่ชอบอย่างมีความสุข ไปพร้อม ๆ กับ การใช้หลักสูตรโค้ดดิ้งสำหรับคนพิการ พัฒนาทักษะ STEAM (Science Technology Engineering Art Mathematics) จึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษา ต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนโดยสร้างบรรยากาศในการจัดการศึกษา สำหรับบุคคลที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ ความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ที่ต้องมีความสุขแล้ว การเรียนรู้นั้นจะต้องนำไปใช้ในสังคมได้ คือ การพึ่งพาตนเองได้ มีทักษะชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอาศัยอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจและขอขอบคุณ ต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนที่มีความตั้งใจ ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ ตามคำที่ว่า การศึกษาไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมกิจกรรม และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนโสตศึกษา อาทิ ชมการแสดงจากนักเรียนที่พิการทางการได้ยิน การปลูกพืชผัก การเลี้ยงไก่ไข่ การเพาะเห็ด การทำอิฐบล็อก งานประดิษฐ์ และการทำขนม
– ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์
หลังจากนั้น รมช.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจุดสุดท้าย นางสาวพนารัตน์ วสุวัฒนศรี ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นสถานศึกษาที่ให้บริการให้ความช่วยเหลือนักเรียนในระยะแรกเริ่ม เตรียมความพร้อม ฝึกทักษะทุกด้าน ฟื้นฟูสมรรถภาพตามกระบวนการในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลส่งต่อเข้าสู่ระบบสถานศึกษา พร้อมจัดสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ การบริการให้ความช่วยเหลือ ทางการศึกษาแก่ผู้พิการ บุคลากรที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จัดระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ จัดระบบสนับสนุนการจัดการเรียน และประสานงานการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีจำนวนนักเรียนรวมทั้งสิ้น 299 คน ได้แก่ ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น บกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางร่างกาย บกพร่องทางการพูดและภาษา บุคคลออทิสติก บุคคลพิการซ้ำซ้อน
“สุดท้ายนี้ ขอแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจแก่ผู้บริหาร และบุคลากรของศูนย์การศึกษาพิเศษแห่งนี้ ที่มีจิตอาสา มุ่งพัฒนาเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ในการให้บริการที่หลากหลาย และมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
25/7/2563