ครูกัลยา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รร.เยาววิทย์ หวังพัฒนาการศึกษาให้ถึงตัวเด็กโดยตรง และลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเรียน Coding

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เวลา 11.00 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ณ โรงเรียนเยาววิทย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ในการลงพื้นที่ติดตามงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 กลุ่มจังหวัดภายใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, พังงา, ระนอง และสตูล) โดยมี นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา, นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ, นายสมรักษ์ ถวาย ศึกษาธิการจังหวัดพังงา นายปรณต คหะวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา รักษาการในตําแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเยาววิทย์ คณะครู และนักเรียน เข้าร่วม

 width=
 width=
 width=
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนเยาววิทย์ เป็นโรงเรียนเอกชน ประเภทโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ (แบบประจำ) จัดตั้งโดยมูลนิธิ Children’s World Academy Foundation: CEAF วัตถุประสงค์การก่อตั้งในระยะแรก เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2547 โดยทางโรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโรงเรียนเยาววิทย์อย่างเป็นทางการในครั้งนั้น ต่อมาโรงเรียนได้ขยายโอกาสในการรับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา อาทิ เด็กกำพร้า เด็กยากไร้ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมกลุ่มเสี่ยง ได้รับภัยจากสังคม มาอยู่ในความดูแล ตั้งแต่อายุ 4-18 ปี
ทั้งนี้
ในปัจจุบันโรงเรียนเยาววิทย์ ได้รับโอนให้สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้กำกับดูแล โดยจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ประเภทอยู่ประจำ โดยจัดการเรียนการสอนเน้นทักษะชีวิตและพื้นฐานอาชีพ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีจุดเน้นด้านการส่งเสริมทักษะชีวิตทักษะภาษาเพื่อการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสร้างพื้นฐานอาชีพ โรงเรียนมุ่งมั่นพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนทักษะอาชีพด้านเกษตรกรรม ด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เพื่อเป็นพื้นฐานให้นักเรียนนำเป็นแนวทางในการเลือกอาชีพ โดยเน้นการปฏิบัติจริงจากกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งมีการดำเนินงานรูปแบบศูนย์การเรียนรู้และมีเครือข่ายความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เด็กทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่จะเตรียมความพร้อมทุกด้าน สำหรับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และสามารถดำรงชีวิตตนเองต่อไปได้ในอนาคต

นอกจากนี้ รมช.ศึกษาการ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมแก่ผู้บริหาร และคณะครูโรงเรียนเยาววิทย์ ที่ได้ทุ่มเทให้ความรู้แก่เด็ก ๆ อย่างเต็มศักยภาพ ตามนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กด้อยโอกาสของ ศธ. ซึ่งมีการให้บริการในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตและมีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ อีกทั้ง ยังส่งเสริมให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบอย่างมีความสุข โดยเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่จะปรับเปลี่ยนการเรียน ด้วยการสร้างบรรยากาศในการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ ซึ่งสถานศึกษาต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการ และสอนในเรื่องที่เด็กสนใจอยากเรียนรู้ พร้อมทั้งพัฒนานักเรียนให้มีทักษะการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล มีตรรกะ แก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน การคิดเชิงคณิตศาสตร์ และการกล้าตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้เริ่มจากการเรียนแบบ Unplug Coding คือการเรียนโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ สามารถเรียนรู้ได้ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย (Coding for All, All for Coding) โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทอนิกส์ที่ทันสมัย เพียงแต่เป็นการฝึกให้เด็กคิดให้รอบคอบ คิดอย่างมีระบบ เตรียมการวางแผน วิเคราะห์ปัญหาอย่างถ่องแท้ และหาแนวทางแก้ปัญหาจนจบกระบวนการ “ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาการศึกษาให้ถึงตัวเด็กโดยตรง และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกของประเทศไทย” ขณะเดียวกันโรงเรียนต้องไม่ลืมปลูกฝังให้เด็กทุกคนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ให้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม ประวัติศาสตร์ชาติไทย และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) พร้อมทั้ง สร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการเรียน ให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องการ ปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ และบริบทของวัฒนธรรมท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนอาศัยอยู่ เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างสนุกและมีความสุขไปพร้อม ๆ กันด้วย

ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนและบ้านพักของโรงเรียนเยาววิทย์, การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ภายในโรงเรียน, การจัดการสอนการเรียนการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ อาทิ ฟาร์มเลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ และการปลูกพืชผักสวนครัว อาคาร Green House เป็นต้น

 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
2/11/2563