ครูกัลยา เผยที่ประชุม กกส. 3/2564 มุ่งปฏิรูปทั้งระบบ พร้อมรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่

เมื่อวันพุธที่ 9 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2564 โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา, นายพีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสภาการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา




รมช.ศึกษาธิการ ภายหลังการประชุมกล่าวว่า ที่ประชุมการประชุมสภาการศึกษาครั้งนี้ มีวาระสำคัญพิจารณาหลายเรื่อง โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รายงานผลการศึกษาของปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2563 ที่สะท้อนข้อมูล จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของวัยแรงงาน กลุ่มอายุ 15-59 ปี เท่ากับ 9.86 ปี ยังห่างจากค่าเป้าหมายในปี 2579 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งอยู่ที่ 12.5 ปี (ห่าง 2.64 ปี) จึงจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยขับเคลื่อนภายใต้กฎหมายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนจัดระบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ อาทิ การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School) ที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และเข้มแข็ง พร้อมทั้งเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว พร้อมสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้กับวัยแรงงานให้มีความรู้และสามารถเรียนต่อได้สูงขึ้น
นอกจากนี้ แนวทางการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาของคนไทยที่มากขึ้น ทั้งเชิงปริมาณควบคู่กับเชิงคุณภาพ สอดรับกับผู้เรียนปัจจุบัน ที่แสวงหาความรู้เชิงสมรรถนะมากขึ้น และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนจัดสรรงบประมาณทางการศึกษา ให้มีความสอดคล้องความต้องการ และความจำเป็นของสถานศึกษาแต่ละขนาด ที่มีความแตกต่างกัน โดยเสนอปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบข้ามสาขาวิชา เพื่อพัฒนาให้เด็กมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลง ในศตวรรษที่ 21 รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับการจัดการเรียนการสอนแบบ Non-Degree การใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และระบบคลังหน่วยกิต (Credit bank) ที่มีการกำหนดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ เน้นสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดแรงงาน พัฒนาไปสู่การจัดทำคลังสมรรถนะของประเทศไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับวิชาสามัญเพิ่มเติม โดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อประโยชน์ในการรับรองวิทยฐานะ ให้แก่สามเณรที่ศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีสนามหลวง และแผนกธรรมสนามหลวง ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 เป็นการรับรองวิทยฐานะ ให้กับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีดังกล่าว รวมทั้งกำหนดรูปแบบการเทียบโอนระดับการศึกษา และคุณวุฒิที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมแสดงความยินดีแก่ นางปัทมา วีระวานิช อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น กกส.ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา และการวัดและประเมินผลการศึกษา พร้อมรับทราบรายงานความก้าวหน้า การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ทั้ง 6 คณะ และรายงานผลการศึกษารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-19 ความเคลื่อนไหวการดำเนินงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) รวมทั้งการดำเนินงานการพัฒนาเด็กปฐมวัยอีกด้วย
ท้ายสุด รมช.ศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ปรับปรุงร่างดัชนีการศึกษา เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย โดยให้มีการสังเคราะห์ แสดงรายละเอียดมิติและตัวชี้วัดจำแนกตามจังหวัด เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ ที่เข้มแข็งได้อย่างตรงจุด และสอดคล้องวิถีชีวิตปัจจุบัน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งสูงวัย เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ และการพัฒนาคุณลักษณะนิสัยใฝ่รู้อย่างมีวิจารณญาณ ควรปรับเนื้อหา ให้มีความสอดคล้องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูล ในการวางแผนยกระดับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของจังหวัดและภูมิภาคได้









ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
ขอขอบคุณข้อมูล ประชาสัมพันธ์ สกศ.
10/6/2564