
เมื่อวันพุธที่ 25 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมวางแผนการดำเนินการขับเคลื่อน “ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาเอกชนออนไลน์นำร่อง 5 แห่ง โดยมีนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและรองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้บริหาร สช. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ภายใต้ความความร่วมมือร่วมใจของสถาบันการศึกษาเอกชนนำร่อง ทั้ง 5 แห่ง เพื่อสร้างการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด และส่งผลให้ต้องปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการประกาศ เรื่องให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา จึงได้มอบหมายที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ และ สช. หารือกับสถาบันการศึกษาเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำบทเรียนเรียนออนไลน์มาช่วยเสริมเติมเต็มโอกาสทางการศึกษา และแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง ในขณะเดียวกันก็ปลอดภัยจากโรคระบาดด้วย
“เป็นที่น่ายินดีว่า สถาบันการศึกษาเอกชนนำร่องทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนกรุงเทพวิทยาการคอมพิวเตอร์ โรงเรียนมัธยมยานากาวา โรงเรียนวรรัตน์ศึกษา และ 168 ติวเตอร์ออนไลน์ ซึ่งมีความพร้อมด้านการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ มีเนื้อหาและจุดเด่นในการจัดการเรียนการสอน ผ่านแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีการศึกษาที่ทันสมัย ครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในทุกกลุ่มสาระวิชา ทั้งในรูปแบบออนไลน์ ระบบ Live, Streaming, การสื่อสารสองทาง และโต้ตอบได้แบบ Interactive learning ไปจนถึงรูปแบบออฟไลน์ ที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจและเรียนซ้ำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านทางเว็บไซต์ สช. (www.opec.go.th) และเว็บไซต์ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. (https://odlc.opec.go.th/) ตลอดระยะเวลา 2 เดือน (จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2563) ซึ่งคาดว่าระบบการเรียนออนไลน์ทั้งหมด จะสามารถรองรับผู้เรียนได้จำนวนมากถึงหลักล้านคน
ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เน้นการเรียนการสอนออนไลน์วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ในทุกระดับชั้นทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ, โรงเรียนกรุงเทพวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีระบบ Virtual School Online “โรงเรียนเสมือนจริงยุค Digital 5G” ที่นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 และผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกัน, โรงเรียนมัธยมยานากาวา เป็นโรงเรียนแห่งความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ได้พัฒนา Application การเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น ตามระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับ N5 (พื้นฐาน) ไปจนถึงระดับสูงสุด N1 ผสานศาสตร์พระราชา, โรงเรียนวรรัตน์ศึกษา ได้สร้างแพลตฟอร์มห้องเรียนออนไลน์ที่ทำให้นักเรียนและครูมาเจอกัน พร้อมเครื่องมือเสมือนห้องเรียนจริง ทั้งกระดานอัจฉริยะ การถามตอบแบบ Real-time และ 168 ติวเตอร์ออนไลน์ เป็นแหล่งรวมติวเตอร์ ระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนชั้นนำกว่า 150 คน พร้อมคอร์สติวสอบเข้าเรียนต่อในระดับต่าง ๆ และโครงการที่สำคัญ เป็นต้น
ในนามของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการจัดการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ทำให้เกิดภาพความร่วมมือร่วมใจในครั้งนี้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเอกชนนำร่องทั้ง 5 แห่ง และสถาบันการศึกษาเอกชนอื่น ๆ ที่แจ้งความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการในอนาคตอันใกล้นี้ นับเป็นความห่วงใยและน้ำใจที่มีคุณค่ายิ่งในยามที่ประเทศตกอยู่ในสภาวะวิกฤต หากจะประเมินค่าคงมีตัวเลขสูงหลายล้านบาท และหลายแห่งก็ไม่อาจประเมินค่าได้ เพราะนอกจากจะให้ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังไม่จำกัดจำนวนผู้เรียนด้วย ถือเป็นการรวมพลังเพื่อร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ให้ได้เรียนรู้ในทุกที่ทุกเวลา แม้ต้องหยุดเรียนอยู่กับบ้านก็ได้ความรู้ ได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และปลอดภัยจากโรคระบาด ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ประชาชนคนไทยทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล เพื่อก้าวผ่านสภาวะวิกฤตของโรคระบาดอุบัติใหม่ไปด้วยกัน ส่วนกระทรวงศึกษาธิการจะมุ่งมั่นและพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างสรรค์และเติมเต็มด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนของชาติ ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย โดยใช้โอกาสนี้เตรียมวางแผนระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของ สช. ให้มีความพร้อมสมบูรณ์รองรับการศึกษาออนไลน์อย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดโอกาสให้ครูที่สร้างสื่อออนไลน์ดี ๆ เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบออนไลน์ของศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล ที่จะประโยชน์กับผู้เรียนโดยตรง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามนโยบายรัฐบาลต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
สรุประบบการเรียนออนไลน์ของเครือข่ายสถาบันการศึกษาเอกชน ดังนี้
– โรงเรียนเซนต์คาเบรียล : เน้นการเรียนการสอน 5 สาระวิชา ภาคภาษาไทย ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษาและวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย รวมทั้งภาคภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น (Intensive English) ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษาและวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาอังกฤษ สามารถรองรับผู้เรียนและประชาชนทุกคนที่สนใจจะเรียนรู้ในทุกที่ทุกเวลา
– โรงเรียนกรุงเทพวิทยาการคอมพิวเตอร์ : ได้พัฒนาระบบโรงเรียนเสมือนจริงยุค Digital 5G “Virtual School Online” ในรูปแบบ VDO ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ม.6 ในทุกกลุ่มสาระวิชา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยผู้ปกครองสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนได้ พร้อมทั้งมีแบบทดสอบ ระบบการประเมินผลก่อน-หลังการเรียน และออกเกียรติบัตรนำไปยื่นกับทางโรงเรียนได้ โดยโรงเรียนยินดีให้เรียนฟรีตลอดระยะเวลา 1 ปีต่อจากนี้
– โรงเรียนมัธยมยานากาวา : ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ได้พัฒนา Application การเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แก่นักเรียนระดับชั้น ม.1-ม.6 ตามระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับ N5 (พื้นฐาน) ไปจนถึงระดับสูงสุด N1 ในทุกที่ทุกเวลา ผสานศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้คู่คุณธรรม ทั้งนี้ มีระบบประเมินผลทั้งในระดับบุคคล ห้องเรียน โรงเรียน ไปจนถึงระดับจังหวัดและภาค โดยสามารถรองรับผู้เรียนผ่านระบบลงทะเบียนเรียนออนไลน์ กว่า 1 ล้านคน เป็นเวลา 2 เดือน
– โรงเรียนวรรัตน์ศึกษา : ได้สร้างแพลตฟอร์มห้องเรียนออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนและครูมาเจอกัน มีความจุสูงสุด 100 คนต่อห้องเรียน พร้อมมีเครื่องมือเสมือนห้องเรียนจริง ทั้งกระดานอัจฉริยะ การรับ-ส่งไฟล์ ระบบ VDO conference และการตอบคำถามแบบ Realtime ซึ่งนักเรียนสามารถเข้ามาเลือกเรียนห้องเรียนหรือวิชาที่สนใจ โดยยินดีให้สิทธิ์กับนักเรียนที่เข้ามาลงทะเบียน จำนวน 20,000 คน ในระยะเวลา 2 เดือนต่อจากนี้
– 168 ติวเตอร์ออนไลน์ : เป็นแหล่งรวมติวเตอร์กว่า 150 คน ทั้งในระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย, ระดับโรงเรียนดัง และระดับติวเตอร์ในคณะสำคัญ เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่ผู้เรียนผ่านระบบออนไลน์ โดยสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ ทั้งเลือกเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม เลือกเรียนกับอาจารย์ หรือเลือกวิชาและเนื้อหาที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสอบเข้าโรงเรียนดัง มหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือโครงการต่าง ๆ ไปจนถึงการสอบ O-NET, GAT-PAT, 9 วิชาสามัญ เป็นต้น โดยยินดีให้เรียนฟรีไม่จำกัดจำนวน ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
การเข้าใช้บริการผ่าน 2 ช่องทาง
1) เว็บไซต์ สช. www.opec.go.th
เลือกหัวข้อ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช.
2) เว็บไซต์ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. https://odlc.opec.go.th/
จากเลือกโรงเรียนต้นทางที่ให้บริการ พร้อมกรอกข้อมูลพื้นฐานตามที่ระบบร้องขอ
ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถใช้ระบบการเรียนออนไลน์ ควบคู่ไปกับการเรียนปกติได้ โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 02 282 1000
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
25/3/2563