ครูพี่โอ๊ะนำเสนอ 8 คำศัพท์พบบ่อยในช่วง COVID-19 หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน

หลายครั้งที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มักพบคำศัพท์ทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวของประชาชนเสมอ ในวันนี้ “ครูพี่โอ๊ะ” (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงนำ 8 คำศัพท์ ที่ได้ยินบ่อยครั้งมานำเสนอ เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตัว และช่วยให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้อง

 width=

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ครูพี่โอ๊ะได้รวบรวมคำศัพท์ทางการแพทย์ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสภาวะการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ประชาชนควรรู้ ได้แก่

Coronavirus คือ “ชื่อของไวรัส” หรือ Coronavirus disease starting in 2019 ก็คือ Covid-19 (ย่อมาจาก CO: Corona, VI: Virus, D: Disease และ 19: 2019 ปีที่ไวรัสระบาด) โดยได้รับการประกาศจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563

WHO คือ “องค์การอนามัยโลก” (ย่อมาจาก World Health Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) มีจุดมุ่งหมายเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยของทุกคนบนโลก

Social distancing คือ “การเว้นระยะห่างทางกายภาพจากบุคคลอื่น” สำหรับบุคคลทุกคนที่อาจจะมี หรือไม่มีความเสี่ยงชัดเจน แต่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยยืนหรือนั่งกัน 1.5-2 เมตร, งดเข้าไปในที่แออัด, งดการรวมตัวกัน โดยใช้ระบบออนไลน์แทน, งดไปหรือจัดกิจกรรมบันเทิง และรับประทานอาหารคนเดียว หลีกเลี่ยงการร่วมสำรับกับผู้อื่น เป็นต้น

Self-quarantine คือ “การกักตัวดูอาการอยู่บ้าน สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ” เช่น ใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันหรือผู้ป่วยที่สงสัย COVID-19, ผู้เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงมีการติดต่อจากคนสู่คน และระบาดกว้างขวางภายในประเทศ, ผู้ที่ไปในสถานที่ที่ประกาศว่ามีผู้ป่วยยืนยันในเวลาใกล้เคียง เช่น สนามมวย ผับ เป็นต้น โดยผู้ป่วยควรอยู่ในที่บ้านเท่านั้น พร้อมเว้นระยะห่างทางกายภาพจากสมาชิกในครอบครัวให้ได้มากที่สุด หากเป็นไปได้ควรแยกห้องน้ำ แยกทานอาหาร แยกทำกิจกรรมสันทนาการ และงดให้บุคคลภายนอกมาเยี่ยมเยียนที่บ้านด้วย

Self-isolation คือ “การแยกตัวเองหลังจากที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้ว” ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อหายแล้วต้องแยกตัวเองต่อไปอีก 30 วัน เพื่อไม่ให้ไปติดคนอื่นในบ้าน โดยต้องปฏิบัติตนแบบ Social distancing และ Self-quarantine

Self-monitoring คือ “วิธีตรวจสอบตนเองว่ามีอาการผิดปกติที่อาจทำให้ติดเชื้อ COVID-19” หรือกลับมาเป็นซ้ำภายหลังรักษาหายดีแล้ว เช่น วัดไข้วันละ 2-3 ครั้ง, สังเกตอาการแสดง การไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์

Super spreader คือ ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นในวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื่อเพิ่มมากขึ้น

Work From Home (WHF) คือ การทำงานจากที่บ้าน โดยใช้ระบบออนไลน์เป็นหลัก เป็นหนึ่งในช่องทาง Social Distancing เพื่อลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ

 width=  width= width=

“ทั้งนี้ ขอฝากให้ประชาชนติดตามข่าวสารของทางราชการเป็นหลัก พร้อมตระหนักถึงการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และนำหลัก “สุขอนามัย 6 อ.” มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ อารมณ์ ดี คิดแง่บวก, อาหาร มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา, อากาศ ถ่ายเทสะดวก บ้านสะอาด, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, อุจจาระ ขับถ่ายโดยไม่เร่งรีบ และอย่าอดนอน โดยควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมง เป็นต้น เพื่อสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง เสริมภูมิต้านทานที่ดี ห่างไกล COVID-19 และโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เมื่อทุกคนร่วมมือกัน เชื่อว่าประเทศไทยของเราต้องรอด” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
ขอบคุณข้อมูล: คอลัมน์หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพ นสพ.เดลินิวส์
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
5/4/2563