
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2563 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมและติดตามการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พร้อมให้กำลังใจแก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากร ของสำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความขอบคุณครูและผู้บริหารทุกคน ที่มาร่วมให้การต้อนรับที่แสนอบอุ่น ตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ กศน. WOW พรีเมี่ยม ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดยะลา แสดงให้เห็นถึงการหล่อหลอมด้วยดวงใจชาว กศน. ทุกคน เพื่อดำเนินงานตามนโยบายได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สมกับการรอคอยที่จะให้รัฐมนตรีคนนี้มาเยือนเป็นเวลานาน ภายหลังจากมาปฏิบัติภารกิจในจังหวัดข้างเคียงอยู่หลายครั้ง ในวันนี้จึงตั้งใจที่จะใช้เวลาอย่างเต็มที่ เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการ ที่จะได้ร่วมหาแนวทางแก้ไข “ทลายทุกข้อจำกัด” และปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขอแสดงความชื่นชม กศน.จังหวัดยะลา ที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา ในรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ปลายด้านขวานได้เป็นอย่างดี ซึ่งนับว่ากลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษาของ กศน.ยะลา มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ แต่ก็เชื่อว่า คงจะไม่เกินความสามารถของครู กศน. ซึ่งเป็น “ครูพันธุ์พิเศษ” ที่มีศักยภาพ มีความคิด สามารถต่อยอดและพัฒนานโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ตอบโจทย์ กศน.WOW WOW ครอบคลุมทั้ง 6 Good บ่งบอกให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของชาว กศน.อย่างชัดเจน ที่แม้จะมีความขาดแคลน ไม่มีห้องเรียน ไม่มีครูครบทุกวิชา แต่เรามีครูที่มีสมรรถนะสูง สามารถสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างความเข้าใจไปยังกลุ่มเป้าหมายของการเรียนได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้เรียนก็มีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อพัฒนาตนเอง นั่นจึงที่มาของภาพความสำเร็จที่งดงามในวันนี้ รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายจัดอบรมและจัดทำหน้ากากอนามัยสู่การผลิตใช้ในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถต่อยอดการออกแบบ และใช้วัสดุและอุปกรณ์สอดคล้องตามบริบท และทรัพยากรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับรัฐมนตรีเป็นอย่างมาก
ในส่วนของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา ยินดีที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ สื่อและนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อสร้างความพร้อมในการบริการแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ในพื้นที่ เพราะเรื่องของวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับคนเราทุกคน นับตั้งแต่เกิดจนตลอดทั้งช่วงชีวิต รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา จังหวัดยะลา ที่งานอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาและดูแลสวัสดิการ และสวัสดิภาพครู ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ครูยะลาอยู่รอดปลอดภัย ครอบครัวอยู่ดีมีสุข” ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ดูแลครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้สูงอายุ จังหวัดยะลา เพื่อยกระดับความเป็นอยู่อย่างมีคุณค่าและมีความสุขของครู
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ให้ความสำคัญกับการศึกษาในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม และเสมอเหมือนกัน เช่นเดียวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พยายามผลักดันขวัญและกำลังใจในการทำงานของทุกคนอย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผลักดันจนประสบความสำเร็จคือ ความมั่นคงในการทำงานของครู กศน. โดยได้สานต่อการขออัตรากำลังให้กับครู กศน.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 140 อัตรา และขอกรอบอัตราสำหรับบรรจุข้าราชการครู กศน. อำเภอละ 1 คนทั่วประเทศ รวม 891 อัตรา ซึ่งขณะนี้ได้รับกรอบอัตรากำลังแล้ว และตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการบรรจุข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วยสังกัด กศน.ทั้งสองส่วน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้ พร้อมขอยกเว้นการมีใบประกอบอาชีพครู เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ครูได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง และอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสถาบันการศึกษาผลิตครู อาทิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ที่เดินทางไปตรวจราชการ เพื่อการจัดการเรียนการสอนสำหรับครู กศน. ให้เอื้อต่อการทำงานโดยไม่ทิ้งผู้เรียน แต่ในขณะเดียวกัน ครูก็ได้รับการพัฒนา และลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ให้ได้มากที่สุด
“ด้วยสไตล์การทำงานของครูพี่โอ๊ะ เมื่อรับฟังปัญหาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว จะขับเคลื่อนจนเกิดผลสำเร็จ พร้อมพัฒนาปรับปรุงเป็นระยะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของงานอย่างเต็มที่ และการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คงจะทำให้ทุกคนเห็นถึงความตั้งใจในการทำงาน เพื่อผลักดันความเจริญงอกงาม ที่จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ปลายด้ามขวาน โดยส่วนตัว เมื่อได้มาเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยหัวใจ และรับฟังอย่างเข้าใจถึงความต้องการพัฒนาการศึกษา เรียนรู้ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดี สร้างอาชีพแก่ประชาชน ให้อยู่อย่างมีความสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม ขอยืนยันว่า สิ่งใดที่สามารถทำให้ได้ จะทำให้ทันที แต่สิ่งใดต้องอาศัยเวลาหรือข้อมูลรายละเอียด ก็จะติดตามและผลักดันต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ขอให้ทุกคนระลึกไว้เสมอว่า ชาว กศน.ทุกคน คือคนสำคัญของการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นคนสำคัญของครูพี่โอ๊ะ และสัญญาว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้เพียงคนเดียว ท้ายสุดนี้ ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่านตลอดไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นายนิมะ มะกาเจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวต้อนรับว่า จังหวัดยะลาให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาของเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกกลุ่ม โดยมีสถานศึกษาและโรงเรียนรองรับ ในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา การอุดมศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตลอดจนมีเครือข่ายเพื่อสร้างงานและอาชีพ คือโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในส่วนของการพัฒนาศักยภาพของประชาชนถือว่า สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดี แก่ประชาชนใน 8 อำเภอ 56 ตำบล 341 หมู่บ้าน โดยเฉพาะการศึกษารองรับผู้ด้อย ผู้ขาด และผู้พลาดโอากสทางการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญ อาทิ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน แหล่งเรียนรู้ TK Park เป็นต้น
นางขนิษฐา มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา กล่าวรายงานว่า สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา ตลอดจนภาคีเครือข่าย เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชาทั่วไปในระบบและนอกระบบโรงเรียน โดยได้ดำเนินการตามนโยบายและจุดเน้นการดำเนินงานการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ในระดับพื้นที่ ให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายและจุดเน้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างสังคมไทย ให้เป็นสังคมอุดมปัญญา ด้วยการจัดการให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนวิสัยทัศน์ของจังหวัดยะลา “คุณภาพชีวิตมั่นคง เกษตรมั่งคั่ง ท่องเที่ยวยั่งยืน”
ในวันนี้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน มีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะที่เดินทางมาตรวจติดตามการนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติ นับเป็นกำลังใจอันสำคัญ ที่จะส่งผลต่อการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ เพื่อคนในพื้นที่จังหวัดยะลา และเครือข่ายการทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
นายณัฐภูมินทร์ สังข์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 ณ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา ส่งเสริม สนับสนุนสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการสร้างระบบคิด ปลูกจิตวิทยาศาสตร์ โดยมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวม 25 คน มีภารกิจให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียนนักศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา สงขลา และสตูล โดยเน้นกิจกรรมใน 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านนิทรรศการ การบริการวิชาการ กิจกรรมการศึกษา และค่ายวิทยาศาสตร์
โดยมีผลการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าโดดเด่น ได้แก่ การบริหารงานโดยใช้ศูนย์ข้อมูลประชาชน (Thailand knowledge portal: TKP) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสถานศึกษา ด้านงานวิชาการ งบประมาณ และการบริหารงานบุคคล การดำเนินงานวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและชุมชน ในรูปแบบกิจกรรมการแปรรูปสมุนไพร และกระบวนการผลิตเตาไบโอชาร์ เผยแพร่ในระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับภาค นอกจากนี้ นวัตกรรมผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา กศน. โดยนำทักษะ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาสร้างสรรค์นวัตกรรมเกี่ยวกับอาชีพในท้องถิ่น ต่อยอดสู่การประกอบอาชีพ และเพิ่มรายได้ อาทิ เครื่องตัดเฉาก๊วย เครื่องผ่าหมากทูอินวัน เครื่องชักร่องและถากหญ้า เป็นต้น
ในส่วนของความต้องการในการพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา ในปี 2563 ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างหลังคาอาคารสำนักงาน เพื่อให้มีความพร้อมต่อการปฏิบัติงาน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค, การปรับปรุงอาคารห้องการแสดงทางวิทยาศาสตร์, อาคารปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์, อาคารบ้านประหยัดพลังงาน, อาคารห้องน้ำและห้องอาบน้ำ ตลอดจนถนนและระบบระบายน้ำ ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์ และปรับปรุงนิทรรศการดาราศาสตร์และอวกาศ นิทรรศการเคลื่อนที่ นิทรรศการเจ้าฟ้านักบิน และนิทรรศการเพื่อบูรณาการแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเชื่อมโยงสู่วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเป็นอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม
ในการตรวจเยี่ยมและติดตามการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติครั้งนี้ บริหารและผู้มีเกียรติ ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายนิมะ มะกาเจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายณัฐพงษ์ นวลมาก รองเลขาธิการ กศน. นายวีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายสันติ แสงระวี ศึกษาธิการภาค 7 ผู้อำนวยการ กศน. และ ศว.ในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนได้รับเกียรติจากนางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกผู้แทนราษฎร นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกผู้แทนราษฎร นายอับดุลบาซิม อาบู สมาชิกผู้แทนราษฎร นายทนงศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากร กศน.
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
12/3/2563