คุณภาพ-ผลสัมฤทธิ์-เป็นรูปธรรม
จังหวัดปัตตานี – สรุปการบรรยายของ
ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทุกมิติอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นรากฐาน เป็นพื้นฐานอันสำคัญต่อการที่จะพัฒนาในมิติต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีโอกาสพบกับทุกท่านมาหลายโอกาส หลายครั้งหลายภารกิจ ได้พบกันในวันนี้เป็นส่วนใหญ่ที่ได้ร่วมงานกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในการทำทุกอย่างให้เกิดประโยชน์กับเด็กนักเรียน เยาวชน และประชาชน ให้เกิดการพัฒนาในเรื่องคุณภาพการศึกษา และมีส่วนช่วยส่งเสริมในการนำสันติสุขกลับคืนมาอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
พอจะเท้าความได้บ้างว่า ในมิติการพัฒนาต่าง ๆ นั้น “มิติเศรษฐกิจ” ก็มีความสำคัญ โดยรัฐบาลได้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 2 พื้นที่ คือ จังหวัดนราธิวาส อำเภอสุไหงโก-ลก และจังหวัดสงขลา อำเภอสะเดา ก็เป็นหลักสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราทำงานร่วมกันว่าจะพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับมิติดังกล่าว เพราะมูลค่าการค้าการลงทุนในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สูงเกือบครึ่งของมูลค่าการค้าการลงทุนในบริเวณรอบชายแดนทั้งหมด ไม่นับพื้นที่ EEC ต่อมาได้ให้ความสำคัญเพิ่มเติมขึ้น เมื่อปี 2559 ได้ประกาศอนุมัติโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พื้นที่ 3 จังหวัด เริ่มต้นจากอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี, อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส, อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และจะมีการพัฒนาตามระยะให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ ด้วยศักยภาพและบริบทของพื้นที่ต่าง ๆ
ในด้านการศึกษา ได้ร่วมคิดกับคณะทำงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลาง โดยเฉพาะที่สำคัญ ผู้บริหารในพื้นที่ ในการที่จะวางแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และสอดคล้องกับการทำงานด้านอื่น ๆ เพราะ “คน” เป็นทรัพยากรของชาติที่สำคัญที่สุด หากการผลิตและการพัฒนาคนเป็นไปอย่างสอดคล้องตามการวางแผน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงมั่นใจอย่างที่สุดเหมือนทุกท่านว่า จะทำให้การเจริญเติบโตและความก้าวหน้า รวมทั้งการแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ พาให้ประเทศมีความเจริญ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่ทุกท่านมีความประสงค์
ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มความเข้มในการที่จะทำงานในพื้นที่ตลอดมา ได้ร่างแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายท่านได้รับทราบรับฟังเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ปัตตานี ได้แถลงยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่พัฒนาจากการทำงานจากห้วง ๆ ต้นปี 2558, 2559 พอมาตกผลึกที่ปี 2560 ก็ได้ยุทธศาสตร์การทำงานซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนสภาพัฒน์ สอดคล้องกับบริบททุกเรื่องที่เป็นศักยภาพของพื้นที่ ก็ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ออกเป็น 6 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น
1) ด้านความมั่นคง การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 3) การเสริมสร้างสมรรถนะของการผลิตและพัฒนาคน เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน จบการศึกษาแล้วมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ 4) พัฒนาคุณภาพชีวิต การที่จะสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค และสร้างความเป็นธรรมทางการศึกษาให้เกิดขึ้น 5) การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6) การพัฒนาการบริหารจัดการ
ทั้ง 6 ด้าน เราขับเคลื่อนมาแล้ว 1 ปีเต็ม ด้วยกลไกการทำงานของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ด้วยการทำงานอย่างเข้มแข็งของผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษาจาก กศน. ผู้บริหารการศึกษาเอกชน และมหาวิทยาลัย ผ่านมา 1 ปี ได้ประเมินมาโดยตลอด จากการมาเยี่ยมเยียนทำงานร่วมกัน จากการประชุม จากการติดตาม มีสิ่งที่น่าภูมิใจมากมาย เช่น โครงการที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชน ก็ประสบความสำเร็จหลายโครงการ การสำรวจความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกระทรวงศึกษาธิการ ของรัฐบาล เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่ามีความพึงพอใจมากถึงปานกลาง 85% จากกลุ่มผู้ให้ข้อคิดเห็น 1,500 กว่าคนในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด หลากหลายอาชีพ เพศ วัย ผู้ชาย ผู้หญิง รายได้ การศึกษา และเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ได้สำรวจซ้ำอีกครั้ง เพิ่มขึ้นมาเป็น 90% เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นกำลังใจ เป็นความภาคภูมิใจ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความร่วมมือ หรือความสำคัญที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ จึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้คงเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานในห้วงต่อไป
ปีงบประมาณ 2561 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 หรือจะเรียกรวมเป็นปีการศึกษา 2561 ที่จะถึงนี้ ได้ระดมความคิดจากผู้บริหาร จากคณะทำงาน จากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด คิดว่าปี 2561 จะเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง ที่อยากจะใช้คำว่ามีเจตนารมณ์ร่วมกันในการที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม มีคำสำคัญอยู่ 3 คำ “คุณภาพการศึกษา” ตามหลักวิชาการหมายถึงคุณภาพ ครู นักเรียน หลักสูตร การเรียนการสอน สถานศึกษา องค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งสามารถคิดริเริ่มให้ครอบคลุมทั่วถึงได้ เรื่องของคุณภาพ จะต้องพัฒนามุ่งเน้นให้เกิด “ผลสัมฤทธิ์” มีความสำคัญเป็น “รูปธรรม”
จึงมั่นใจว่าหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นในคราวนี้ เป็นโอกาสแรกที่กำกับดูแล อำนวยการ และให้การสนับสนุน โดยสำนักงานปลัดกระทรวง และได้ประสานมอบหมายให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกำกับเอง จะมีคำอธิบายในเบื้องต้น แต่จะเสริมเพิ่มเติมด้วยความคิด สติปัญญา และความตั้งอกตั้งใจของทุกท่าน ในการที่จะผลิตและพัฒนางานให้เกิดขึ้น ให้ตรงกับเจตนารมณ์ร่วมกัน
ขอเท้าความเดิมสักเล็กน้อยเพื่อเป็นพื้นฐานการทำงาน ในห้วง 2 วันนี้ และเป็นขั้นหนึ่งก่อนที่จะฟังการบรรยายถ่ายทอดจากวิทยากรพิเศษ จะเรียกว่าพิเศษสุด ทางอาจารย์ตวง อาจารย์กนก สนช. ทุกท่านที่ได้กรุณามาในครั้งนี้ และวิทยากรที่จะกรุณา ทั้งมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี งานที่เราทำอยู่ที่ผ่านมามีความก้าวหน้าโดยลำดับ จะขอเรียงถึงองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการดังนี้ มีงานที่ดำเนินการไปแล้ว เดินหน้าได้ดี ยกตัวอย่างเท่านั้น ความจริงถ้าจะกล่าวจะใช้เวลามากเหมือนกัน ขอใช้เวลาในห้วงของพิธีเปิด
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีในท้องที่ โดยเฉพาะมิติด้านศาสนา เกี่ยวข้องกับศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด ที่เรียกว่าโรงเรียนตาดีกา มีอยู่ 2,013 แห่ง สำรวจล่าสุด มีการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง ทำงานกับสถาบันศึกษาปอเนาะในพื้นที่ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของพื้นที่ ในห้วงที่ผ่านมาเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา สถาบันการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในการที่จะระดมความคิด ด้วยความพยายามในการที่จะทำให้หลักสูตรเป็นมาตรฐานเดียวกัน ความจริงมีมาตรฐานทั้งนั้น แต่การเป็นมาตรฐานเดียวกันนั้น หมายถึงเรื่องที่จะมีผลดีเกิดขึ้นตามมา เช่น การเทียบเคียง โอน หรือการเรียนต่อ หรือการที่จะเป็นมาตรฐานอุดหนุนการศึกษา หรือพัฒนาในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ในโรงเรียนตาดีกา หรือศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด เมื่อตุลาคม 2559 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรอิสลามตอนต้น 6 ปี ซึ่งขณะนี้ถือว่าการขับเคลื่อนได้ค่อย ๆ คืบหน้าไปเป็นลำดับ แต่คิดว่าช้าไปกับความเป็นมาตรฐาน กับการที่จะให้ทางรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนได้อย่างเต็มระบบ เต็มกำลัง มูลนิธิตาดีกาได้ส่งโครงการมาให้ ในฐานะอีกตำแหน่งหนึ่งคือการเป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในการที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนตาดีกาเป็นจำนวนเงินมาก เป็นสิ่งที่สะท้อนให้แสดงเห็นว่ามูลนิธิฯ ก็ประสงค์ที่จะมีการพัฒนาให้เกิดขึ้น
ปัจจุบัน จึงมีการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อเป็นการเร่งให้การทำงานเร็วขึ้นกว่าปกติ ได้เรียนเชิญผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบให้มาเป็นผู้ช่วยในการทำงานด้านการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ท่านอดินันท์ ปากบารา เป็นประธานคณะทำงานร่วมกับทีมงานต่าง ๆ ที่ได้ตั้งขึ้นในการที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งจะรวมหมายถึง หลักสูตรที่จะใช้ในสถาบันศึกษาปอเนาะ ซึ่งขณะนี้ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 สำหรับหลักสูตรประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย เพื่อความเข้าใจในการทำงาน ประถมเรียน 4 ปี มัธยมต้นเรียน 3 ปี มัธยมปลายเรียน 3 ปี รวม 10 ปี เรียกหลักสูตร 4–3–3 ต้องเร่งรัดขับเคลื่อนไปด้วยกัน เมื่อมี กศน.พาครูเข้าไปเป็นผู้ช่วยเหลือ โต๊ะครู บาบอ ในสถานศึกษาต่าง ๆ ขณะนี้มีการพัฒนาในเรื่องความก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ ได้มีการประชุมครู กศน. ที่ประจำในสถาบันศึกษาปอเนาะบ่อย ๆ ครูตั้งใจมากทั้ง 396 คน ในการที่จะช่วยเหลือดูแลในสถาบันศึกษาปอเนาะ ตลอดจนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด สช.ได้ใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจ สช.จังหวัด สช.อำเภอ แม้ว่าบางแห่งบางที่ก็ต้องมีความพยายามที่จะพัฒนาเหมือนเช่นหลักสูตรนี้ ที่จะมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมให้ได้อย่างที่พวกเราตั้งใจ นอกเหนือจากนั้นก็จะมีโรงเรียนเอกชนที่มีโครงการต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุน ในเรื่องของการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ การเป็นต้นแบบของการเรียนการสอนต่าง ๆ กรณีที่ผ่านมาเมื่อสักครู่ สัมผัสได้ว่าโรงเรียนสาธิตที่ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ได้ดำเนินการ และอธิบายให้ฟัง จะเป็นความหวังของการพัฒนาการศึกษาได้ในพื้นที่
สำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานที่จะมีบทบาทอย่างสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหน่วยงานอื่น นอกจากการเรียนในระบบแล้ว การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นบทบาทของ กศน.อย่างเข้มแข็ง สังคมแห่งการเรียนรู้ก็อยู่ในบทบาทภารกิจหลักของ กศน. กศน.จังหวัด กศน.อำเภอ ครู กศน. ครูอาสา กศน.ตำบล 4 ศูนย์หลักที่มี ศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์ประชาธิปไตย ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ท่านเข้มแข็งทั่วถึงหรือยัง โอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ท่านจะต้องปรึกษาหารือกัน ว่าทำอย่างไร สิ่งที่เราได้ทำไว้แล้ว มีมาตรฐานค่อนข้างดีแล้วจะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างไร ในห้วงต่อไป ให้เป็นรูปธรรม มีงานเพิ่มเติมให้ท่านอีก เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายโครงการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ มีทุกมุม เพราะว่าเราเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนให้มีความรู้ เป็นคนดี คนเก่ง มีอาชีพ มีความสุข กศน.ก็ต้องมีงานเพิ่ม
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน มี 10 เรื่องต้องทำหมด
-
“สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง” เน้นสร้างความสามัคคีปรองดอง
ให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ยึดมั่นในสถาบันชาติ พระมหากษัตริย์ รู้รักสามัคคี -
“คนไทยไม่ทิ้งกัน”
การที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การนำเด็กนักเรียนหรือเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา เด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน จำนวน 45,000 คน เพิ่งได้มาครึ่งเดียว เปิดเทอม ต้องเชิญชวนรณรงค์ ร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตำบล อำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้ขอความร่วมมือ ปีหน้าจะทำอย่างไร มาให้ครบ -
“ชุมชนอยู่ดีมีสุข” มุ่งพัฒนาอาชีพ เสริมรายได้ให้ประชาชน
-
“วิถีไทยวิถีพอเพียง” ส่งเสริมการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ในการดำเนินชีวิตทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย
ซึ่งซึมซับในการทำงานของเราอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด -
“รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย” เน้นให้ประชาชนมีความรู้ในสิทธิ หน้าที่ และการเป็นพลเมืองที่ดี
-
“รู้กลไกการบริหารราชการ” ที่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจการบริหารราชการทุกระดับ เพื่อมุ่งสร้างประโยชน์ให้ประชาชน
-
“รู้จักประชาธิปไตย ไทยนิยม” ให้ประชาชนเข้าใจหลักธรรมาภิบาล รู้หลักการทำงาน กลไกของภาครัฐที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น
-
“รู้เท่าทันเทคโนโลยี” ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านโครงการสำคัญ เช่น อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน
-
“ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด” บูรณาการการทำงานทุกหน่วยงาน ที่จะต้องเร่งรัดช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร
-
“รู้งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน” คือกำหนดกิจกรรมของส่วนราชการที่ลงไปปฏิบัติในพื้นที่
ห้วงต่อไปจะมีการประชุมของจังหวัด อำเภอ คณะทำงานในระดับตำบล กศน.เป็นคณะทำงาน 7-12 คน เพราะเป็นหน้าที่โดยตรง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมีปริมาณผู้ที่จะต้องดูแลมาก ทั้งประถม มัธยม ในระบบ มีงานที่พัฒนาไปมาก นับเรื่องไม่หมด DLTV DLIT เรียกชื่อย่อหมด มั่นใจว่าในห้องนี้แปลได้หมด การพัฒนาครูระบบ TEPE พัฒนาครู พัฒนานักเรียน โรงเรียนขยายโอกาส สร้างโอกาสนักเรียน ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม อาชีพ มีครบหมด อันไหนไม่ครบจะเพิ่มเติมได้ต้องเป็นการพัฒนาที่เห็นผลได้ หวังผลเร็ว เพราะเราใช้เวลามา 3 ปีแล้ว ปีนี้ปีที่ 4 ที่ทำงานร่วมกันมาตามแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จะเกิดโครงการเพิ่มเติมอีก โรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย แล้วก็นับฐานจากพ่อแม่ผู้ปกครองรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ร่วมเป็นกรรมการพิจารณา สมัครมาขณะนี้ 5,000 กว่าคน อาชีวะ ทั้ง ปวช. ปวส. มีประมาณ 800 คน รัฐให้การสนับสนุนเป็นนักเรียนประจำ ซึ่งเป็นดำริของนายกรัฐมนตรีเมื่อการประชุม ครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างโอกาสนี้ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะนี้เตรียมการแล้ว ทุกอย่างไม่มีปัญหา มีความพร้อมมากขึ้นโดยลำดับ เป็นนักเรียนประจำพักนอน เป็นนักเรียนที่ให้อาหาร เสื้อผ้า ดูแลหมด เพื่อที่จะให้เรียนหนังสือตามที่อยากจะเป็น และก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลมอบให้ เราภูมิใจ ปีใหม่ที่ผ่านมา 1 มกราคม 2561 เรื่องนี้เป็นของขวัญปีใหม่ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทำงานเข้มข้นขึ้นโดยลำดับ จากสัดส่วนผู้เรียนอาชีวะกับสามัญ ที่ค่อนข้างต่ำ 3 ปีที่ผ่านมา ก็เพิ่มทีละเล็กละน้อย ปีนี้ สอศ.ตั้งเป้าและมั่นใจว่าทำได้ ที่จะเพิ่มสัดส่วนของนักเรียนให้เป็น 20 ให้ได้ จึงได้เชิญรองเลขาธิการ กอศ. เป็นผู้อำนวยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเรียกว่า “กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า)” ถ้านึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง นี้คือการวางงานที่สำคัญที่สุดในปีนี้ที่จะให้กระทรวงศึกษาเพื่อมีอาชีพ มีงานทำ มีทักษะ เกิดขึ้นในพื้นที่ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ร่วมกับพี่น้อง เพื่อนผู้ร่วมงาน สช. กศน. สพฐ. ที่ได้กล่าวไปแล้ว
กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ด้วยการตั้งศูนย์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันมี 2 ศูนย์ ที่ EEC ตั้งมาก่อน เมื่อกลางปี 2560 ซึ่งเห็นแล้วว่าได้ผล จึงนำแบบนี้มาทำที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปิดทำงานแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ศูนย์นี้จะมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลความต้องการร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ แรงงานจังหวัด ทาง BOI ทางโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะสำรวจ Demand Side หรือความต้องการของตลาดงาน อาชีพอะไร ทักษะระดับใด เวลาไหนก็จะเป็นลักษณะของการดูว่าจะปรับให้สถานศึกษาด้านอาชีวะทั้ง 18 แห่งในพื้นที่ ปรับแผนการเรียนการสอนอย่างไรให้สอดคล้อง อันนี้เป็นเรื่องที่จะก้าวหน้าและก้าวหน้ามากขึ้นโดยลำดับ มีศูนย์รวมอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี และมีศูนย์ระดับจังหวัด และสถานศึกษาก็จะเป็นส่วนสาขาย่อยกับการที่จะอำนวยการผลิตและพัฒนาคนทั้งในระบบและประชาชน ที่เป็นอาชีพระยะสั้นด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พัฒนาขึ้นมาและก็ก้าวหน้าขึ้น ใช้ระบบฐานข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยบูรพา เราเรียกชื่อ เข้าใจง่าย Big Data System ที่จะเชื่อมโยงถึงสถานประกอบการในการที่จะให้ข้อมูลอย่างทันสมัยและเข้าศูนย์รวม และก็จะเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนการผลิตและพัฒนาต่อไป เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีความริเริ่มร่วมกันเริ่มต้น อาจเรียกว่าต้นแบบที่จังหวัดปัตตานี ที่มีศูนย์บริหารการลงทุน และการประกอบอาชีพทางธุรกิจ อย่างศูนย์รวมที่ปรึกษา คล้ายๆ One Stop Service ในขั้นต้น แล้วเชื่อมกับจังหวัดที่มี
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ให้ความร่วมมือสนับสนุน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มอ.ปัตตานี วิทยาลัยพลศึกษา วิทยาลัยชุมชน ฯลฯส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนขยายโอกาส เป็นพี่เลี้ยงตามโครงการสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง ช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ช่วยเหลือทางด้านให้คำแนะนำ ช่วยเหลือจัดคน จัดอาจารย์มาทำงานร่วมกัน ถือว่ากระทรวงศึกษาธิการดำเนินการโดยภาพรวมของทุกองค์กรหลัก อย่างบูรณาการ อย่างเข้มแข็ง ในห้วงที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ได้ร่วมกันกับคณะทำงาน ตลอดจนผู้บริหารในการที่จะพัฒนาก้าวหน้าขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ในเมื่อทำงานมาแล้ว มันต้องมีวิธีคิดวิธีทำที่จะให้เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์ให้มากขึ้นให้ได้ ในช่วงที่เรากำลังมีความพยายามอย่างยิ่งยวดกันขณะนี้ เพื่อที่จะเป็นรากฐานเป็นพื้นฐานอย่างยั่งยืนไว้ในโอกาสต่อไป ก็ได้ปรึกษา โดยเฉพาะท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายการุณ สกุลประดิษฐ์) ในการที่จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากร กระทรวงศึกษาธิการ ก็เริ่มที่นี่ด้วยเหมือนกัน ที่จริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ การพัฒนาบุคลากรเป็นงานที่กระทรวง ทบวง กรม ภาครัฐทำทั้งสิ้น แต่เราใช้บทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา มาผลิตหลักสูตรให้เกิดขึ้น และก็ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไรมาก สิ่งที่ต้องใช้มากคือความเสียสละ ความทุ่มเท ความตั้งใจ ของพี่น้องผู้บริหารเรานั่นเอง หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเริ่มต้น เรียกหลักสูตรว่า หลักสูตรพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ชื่อหลักสูตรอาจดูยาวหน่อย แต่ก็รับฟังคำวิจารณ์ได้ มันสื่อหมายถึงอะไร มี 3 คำหลัก 1) คุณภาพการศึกษา 2) ผลสัมฤทธิ์ 3) เป็นรูปธรรม ท่านต้องตีโจทย์ให้แตก แยกประเด็นให้ออก ก็จะมองออกว่างานในหน้าที่ บทบาทหน้าที่ จะเกิดอะไรขึ้น เพิ่มเติมจากการที่ทำงานที่มีแผน มียุทธศาสตร์อยู่แล้ว ถือว่าเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ คำแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ แล้วท่านจะได้มีวิธีคิด วิธีการดำเนินงาน ในขั้นต่อไป ที่ทางรองชลำ อรรถธรรม ซึ่งเป็น ผอ.ศูนย์ฯ และคณะทำงานที่ได้ตั้งขึ้น ก็จะดำเนินการตามแผน ตามขั้นตอนต่าง ๆ
พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้กล่าวฝากในเรื่องที่มีความสำคัญคู่ขนานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้น ซึ่งรณรงค์มาโดยตลอด รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรีก็มีข้อสั่งการแทบทุกครั้งของการประชุม ครม. หรือในโอกาสต่าง ๆ ว่า การสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญของการที่จะให้เกิดการร่วมมือ โดยสรุปว่า กระทรวงศึกษาธิการจะต้องสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้น พื้นฐานคือในองค์กร ในองค์กรคือเพื่อนร่วมงานต้องรู้ร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน เข้าใจร่วมกัน จะทำอะไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไร ทำอย่างไร ความมุ่งมั่นตั้งใจกันอย่างไรที่จะทำให้เกิดความสำเร็จตามที่เราอยากได้ อยากเป็น เมื่อเกิดดีมากแล้วในองค์กรก็ขยายออกนอกองค์กร กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ส่วนราชการต่าง ๆ ก็มีส่วนสนับสนุนการทำงานของเราให้ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น มหาดไทยก็ตาม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ดี ส่วนราชการ แม้กระทั่งความมั่นคง มีส่วนสำคัญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราต้องสื่อสาร ต้องสร้างการรับรู้ให้เกิดร่วมกัน เพื่อที่จะเป็นพลัง เมื่อท่านสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจ ท่านได้รับความร่วมมือแน่นอน คือหลักบูรณาการ ตามกลไกประชารัฐ ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ให้แนวทางการปฏิบัติไว้ เกิดความร่วมมือ ถือหลักบูรณาการ และได้ฝากว่าพวกเราบูรณาการแบบสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนาอย่างยั่งยืนของระดับสากลมี 17 เป้าหมาย คุณภาพการศึกษาเป็นเป้าหมายที่ 4 ของ SDG สืบสานศาสตร์พระราชา คนไทยโชคดีที่สุดกว่าประเทศใดในโลก ที่มีพระมหากรุณาธิคุณ องค์รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลักการทรงงาน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ พระบรมราโชวาทในโอกาสต่าง ๆ ล้วนเป็นคำสอนแนวทางปฏิบัติทั้งสิ้น ภาคใต้เริ่มที่ยุทศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ทุกเรื่องล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น สอดคล้องทั้งสิ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มีพระราโชบายที่จะดูแลทุกข์สุขพี่น้องประชาชน พระราโชบายด้านการศึกษา 4 ข้อ ท่านทราบแล้ว นำมาคิดให้ครบ นำมารวบรวม เรื่องราว ร้อยเรียง แล้วก็วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดขึ้น ทำให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้เป็นรูปธรรม
ท้ายที่สุดนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากความรักความปรารถนาดี ระลึกถึงมายังทุกท่าน ให้กำลังใจ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ท่านได้มาเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน มาประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 ที่ปัตตานี ได้มีการประชุม ได้มีการเยี่ยมเยียนศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ได้มอบเสื้อให้ ให้คำขวัญให้กระทรวงศึกษาธิการ สรุปว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วย 1) ความเพียร 2) ความร่วมมือ และ 3) ประชารัฐ
“ผมแอบคิด แต่ผมรอผลปัจจุบัน มีการทำงานระดับภาคเป็น 6 ภาค “ภาคใต้ชายแดน” ก็เป็นภาคหนึ่งซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาวัดกันหลาย ๆ มุมจะอยู่ท้าย แต่ผมแอบคิด ผมรอการประเมินเร็ว ๆ นี้ พูดแล้วขนลุก ผมแอบคิดอย่างมั่นใจ ไม่ใช่ที่สุดท้ายแน่นอน ผลออกมาอย่างไร ก็คอยรับทราบกันอีกครั้ง สำรวจประเมินอย่างมีมาตรฐานทั้ง 6 ภาค เพราะเป็นการทำงานระดับพื้นที่ทั้ง 6 ภาค ที่ผ่านมาทั้งปี อาจดูเหมือนเป็นกำลังใจ แต่จริง ๆ แล้วมันคือความงดงามของการทำงานร่วมกัน 3 ปีที่ผ่านมา ของพวกเรา”
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
นอกจากความสำเร็จจะเกิดขึ้นจากความเพียร ความร่วมมือ ตามกลไกประชารัฐแล้ว ขอสรุปสั้น ๆ ซึ่งได้ณรงค์มาตลอด การจะวางแผน การจะทำยุทธศาสตร์ การจะทำสิ่งที่ท่านวาดฝันความฝันหรือนามธรรมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในความจริง เป็นชีวิตจริงที่จะเกิดให้ได้ ท่านต้องคิดให้ครบ คือครอบคลุมทุกเรื่อง เรามีผู้ที่ต้องดูแลเป็นประชาชน เป็นนักเรียน เป็นเด็ก เยาวชน เป็นคนไทยในพื้นที่ มีข้อมูลปัจจัยต่าง ๆ คิดให้ครบทั้งปฐมวัย ประถมศึกษา ก่อนวัยเรียน เชื่อมโยงได้หมด ประถม มัธยม อุดมศึกษา มหาวิทยาลัย ในระบบ นอกระบบ คิดให้ครบหน่วยมีภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคสื่อมวลชน นำมาร้อยเรียงเกี่ยวเนื่องให้ได้ เป็นพลังอันสำคัญของการทำงาน ทำนามธรรมของการวางแผนไปสู่รูปธรรมให้เกิดขึ้นในหนทางปฏิบัติให้ได้ การทบทวนเป็นห้วง ๆ เราทำอยู่แล้ว 3 เดือนครั้ง ประชุมย่อยสัปดาห์หนึ่งก็ได้ เดือนหนึ่งก็ได้ ซึ่งเรียกว่า After Action Review การทบทวนเป็นห้วง ๆ อย่างหลักสูตรของเราก็เมื่อมาฟังบรรยาย มาร่วมพบกัน 2 วัน ก็จะมีเป็นห้วง เป็นขั้นเป็นตอน ก็จะมีประเมินตอนปิดเทอม หรือปิดปีงบประมาณ อันนี้ก็เป็นการทำงานถูกต้องตามระบบที่ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนมา คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงใยเรื่องการรับรู้ การสร้างการรับรู้ เกิดความเข้าใจ ได้ความร่วมมือ ถือหลักบูรณาการ สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณอย่างที่สุด กับทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วม ในการที่ทำให้งานสำคัญที่เป็นก้าวสำคัญนี้เกิดขึ้น รวมทั้งวิทยากรกิตติมศักดิ์ทุกท่าน ผู้บริหารทุกท่าน ต้องขอบคุณอย่างที่สุดจริง ๆ ในการที่ได้กรุณาในครั้งนี้ ขอบคุณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อนุเคราะห์สถานที่ ขอบคุณอย่างเป็นพิเศษกับผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ที่จะทุ่มเทกำลังกันในการพัฒนาทั้งตนเองและงานในความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในโอกาสต่อไป ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทุกท่านที่จะทำให้คนไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนจบการศึกษาแล้วมีอาชีพ มีงานทำ มีคุณภาพ เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ระบบการศึกษาเป็นพื้นฐาน เป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้