
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563 เวลา 09.30 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา และเปิดศูนย์ปฏิบัติการ ACT AI Lab ณ หอประชุมหลุยส์ มารี เดอ มองฟอร์ต โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เขตบางแค กรุงเทพมหานคร โดยมี นายศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงาน ติดตามแผนงานและงบประมาณ รมช.ศธ., นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, ภารดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี บุคลากรทางการศึกษา, ผู้ปกครอง และนักเรียน ให้การต้อนรับ




รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่ได้มาเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติและโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการศึกษาไทยที่มีศักยภาพ ในการรองรับและเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดำเนินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วทำให้การศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยน เพื่อรองรับและก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เน้นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและบูรณาการ เพื่อเป็นทุนสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัล ปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้ มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และส่งเสริมการเรียนภาษา
คอมพิวเตอร์ รวมถึงเชื่อมโยงระบบการศึกษากับการปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจ สร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล สื่อออนไลน์ และโครงข่ายสังคมออนไลน์ของเยาวชนไทย ส่งเสริมความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สร้างความสมานฉันท์และสามัคคีในสังคมรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต
ในโอกาสที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้แบบโครงงานด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยส่งเสริมครูผู้สอนที่เป็นกำลังหลักในการพัฒนาการศึกษาจากสาขาวิชาต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ที่ไม่เป็นภาระงานในห้องเรียน ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ถือเป็นการยกระดับการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและการทำงานของผู้เรียนในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์โดยเน้นการปฏิบัติจริงและศึกษาข้อมูลเชิงลึกเป็นการบ่มเพาะเยาวชนและสนับสนุนให้เกิด Deep Tech Innovation ในประเทศไทย






นอกจากนี้ สำหรับศูนย์ปฏิบัติการ ACT AI Lab ที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีจัดตั้งขึ้น ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ว่า “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้รับชมวีดิทัศน์ของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, วีดิทัศน์แนะนำโครงการ “ACT CREATIVE AND INNOVATIVE LEADER”, มอบรางวัลให้แก่นักเรียนที่มีผลงานดีเด่นด้านนวัตกรรม และเยี่ยมชมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนภายในศูนย์ปฏิบัติการ ACT AI Lab อาทิ การสาธิต AI Robot: Self driving car and image processing, TURTLEBOT3 Burger, Robotic with AI System on Smart Camera, การสาธิตการสอนหลักสูตร AI โดยใช้ ACT Smart Farm นวัตกรรมต้นแบบทางการศึกษา และการสาธิตเครื่องยิง Projectill และการสร้างผลิตภัณฑ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ ตลอดจนเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน Coding






















ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
10/10/2563