
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมงาน “ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ (Thailand Education Eco-system)” โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค ถนนสุขุมวิท 101
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ ถือเป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาไทย โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและอุปสรรค ที่ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการนำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษา เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตให้กับลูกหลานของเรา ภายใต้การนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายการดำเนินงาน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งในโลกยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เราจึงต้องเตรียมความพร้อมในการผลิต และพัฒนากำลังคนในทุกมิติ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย อาทิ การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ภาษาต่างประเทศ การสนับสนุนการเรียนรู้กับชุมชน เป็นต้น เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้หลังจบการศึกษา
นอกจากนี้ ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลาหลายปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทยหลายด้าน โดยขอฝากให้กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน รวมถึงฝากการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ เช่น การลดจำนวนการบ้านของเด็กนักเรียน, การแนะแนวเด็กให้พัฒนาความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามพรสวรรค์ของแต่ละคน, การสอนประสบการณ์นอกห้องเรียนให้นักเรียน, การลดภาระงานเอกสารของครู, การอบรมและพัฒนาครูอย่างมีประสิทธิภาพ, การเตรียมกำลังคนรุ่นใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม New S-curve เป็นต้น โดยเฉพาะการตั้งศูนย์อบรมและพัฒนาครูในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ครูได้ใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนกับเด็กมากขึ้น และไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับการอบรม
ในส่วนของการอาชีวศึกษา ขอฝากผู้ประกอบการภาคเอกชนในการรับเด็กอาชีวศึกษา เข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพิจารณาการรับเข้าทำงานเมื่อจบการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กอาชีวะมีงานทำ และได้พัฒนาทักษะให้มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาของไทย มีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สิ่งสำคัญ คือ การวางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ในการร่วมกันรับผิดชอบ และร่วมกันพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพื่อให้คนเหล่านี้เติบโตและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในอนาคต
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับฟังความคิดเห็นและได้เรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ ในระบบการศึกษาไทย โดยต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาไทยมีโครงสร้างที่ใหญ่เกินไป และใช้ไม้บรรทัดอันเดียวในการวัดมาตรฐานการศึกษาทั้งระบบ ส่งผลให้การวางแผนเพื่อแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวงศึกษาธิการจึงมีแนวทางในการ “ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ” โดยเริ่มจากการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศทุกด้าน
ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เห็นถึงความเปราะบางของการศึกษาไทย ที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เห็นถึงจุดแข็งของระบบการศึกษาไทย ที่สามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ โดยจะเห็นได้ว่าเด็กเก่งนิยมเรียนแพทย์ และการเป็นนักศึกษาแพทย์จะได้เรียนกับอาจารย์หมอ และฝึกประสบการณ์จริงในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทำให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น หากเราพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ในรูปแบบเดียวกันกับการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เราจะสามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ และมีความเป็นเลิศในแบบฉบับของตนเองได้
นอกจากนี้ การศึกษายกกำลังสอง คือ การปลดล็อก ปรับเปลี่ยน และเปิดกว้าง กล่าวคือ ปลดล็อกกลไกขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วน ให้มีความยืดหยุ่นและลดข้อจำกัดของกระบวนการต่าง ๆ พร้อมปรับเปลี่ยนทัศนคติและแนวคิด ให้คนเก่งมาเป็นครู และปรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาความสามารถของนักเรียน ตลอดจนเปิดกว้างในการบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อนำโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ ตามบริบทสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแผนที่จะจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ” (Human Capital Excellence Center: HCEC) เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาวิชาชีพครู และติดอาวุธให้ครูเก่งขึ้น โดยคาดว่าในปี 2564 จะมี HCEC ที่ตั้งขึ้นในโรงเรียน จำนวน 185 ศูนย์ และอีก 100 ศูนย์ ในสถาบันการอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาร่วมกับสถานประกอบการภาคเอกชน อีกทั้ง มีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ หรือ Digital Education Excellence Platform: DEEP เพื่อรวบรวมเนื้อหาการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ไว้ในระบบและรูปแบบเดียวกัน ซึ่งครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มให้คนที่ทำงานแล้วได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อ Upskill และ Reskill ทำให้เกิดการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย อันจะเชื่อมโยงกับแผนพัฒนารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Excellence Individual Development Plan: EIDP)
สุดท้ายนี้ กระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันสร้างการศึกษาและทุนมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศ โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการจัดการศึกษา ปรับแนวคิดและทัศนคติ รวมทั้งร่วมกันปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรม
การจัดงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา, นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรมการกลุ่มมิตรผล, ผู้บริหารจากเครือเซ็นทรัล, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว, อิทธิพล รุ่งก่อน, ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
17/8/2563