คุณหญิงกัลยา เปิดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 16 ชวนเยาวชนชมหนังวิทยาศาสตร์ฟรี กระตุ้นการเรียนรู้สู่อนาคตที่ยั่งยืน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 16 หัวข้อ (Science Film Festival 2020) หัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals) ณ หอประชุมเกอเธ่ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย โดยมีนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย, นางมาเร็น นีไมเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, นายรวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และนางสาวเดเชน เซอริ่ง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เข้าร่วม เมื่อเร็ว ๆ นี้

 width=
 width=
 width=
 width=
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว แต่คนมักจะคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ยาก ดังนั้น การมีภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ จะทำให้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเรียนรู้ได้อย่างสนุกและเพลิดเพลินยิ่งขึ้น จึงขอชวนเชิญให้นักเรียนทุก ๆ ช่วงปี ได้รับชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 16 นี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง รวมถึงจะทำให้คนไทยได้เข้าใกล้วิทยาศาสตร์มากขึ้น และก้าวทันการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีคุณภาพ

โดยเทศกาลครั้งนี้ ได้นำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ชั้นดีจากนานาชาติ จำนวน 30 เรื่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2563 ฉายให้เยาวชนและผู้ชมทุกวัยได้รับชมฟรี ประกอบด้วย ภาพยนตร์อนิเมชั่นหรือหนังสั้น, ภาพยนตร์บันเทิงศึกษาสำหรับครอบครัว, ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม อาทิ ภาพยนตร์จากประเทศแคนาดา 1 เรื่อง, ชิลี 2 เรื่อง, เยอรมนี 15 เรื่อง, ฝรั่งเศส 2 เรื่อง, ฟิลิปปินส์ 1 เรื่อง, สเปน 1 เรื่อง, อินโดนีเซีย 1 เรื่อง, ออสเตรีย 1 เรื่อง อังกฤษ 2 เรื่อง และประเทศไทย 4 เรื่อง คือ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ตอน ขนเป็ด (House of Little Scientists – Duck Feathers), บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ตอน ความลับของสี (House of Little Scientists – The Secret of Colors), คิด เรนเจอร์ ตอน จอมปลวก (Kid Rangers – Termites) และฉันกับหุ่นยนต์คู่ใจ (Me & My Robot)

ทั้งนี้ ศูนย์ฉายภาพยนตร์มีทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งทางโรงเรียนสามารถเลือกและจองนำคณะนักเรียนเข้าชมได้ ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ในส่วนภูมิภาค 17 แห่งสำหรับโรงเรียนในต่างจังหวัด ได้แก่

1) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรัง
2) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครพนม
3) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากาญจนบุรี
4) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว
5) ศูนย์วิทยาศาสตร์ เพื่อการศึกษาลำปาง
6) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลราชธานี
7) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต
8) ศูนย์วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด
9) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส
10) อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์
11) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษายะลา
12) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา
13) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์
14) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาขอนแก่น
15) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก
16) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาปัตตานี
17) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา

นอกจากนี้ สำหรับการฉายภาพยนตร์แล้ว ในแต่ละศูนย์ยังได้จัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาภาพยนตร์ ให้เยาวชนได้ร่วมทำกิจกรรมจากภาพยนตร์อย่างสนุกสนานอีกด้วย โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ https://sciencefilm.ipst.ac.th

 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
 width=
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
8/11/2563