คุรุราชัน พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
จังหวัดปทุมธานี – ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนา “คุรุราชัน พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “คุรุราชันต้นแบบการพัฒนาครู” เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2560 ณ ห้องประชุมสงค์ธนาพิทักษ์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 48 พระชันษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อ.ธัญบุรี โดยมี รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ตลอดจนคณาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า การจัดงาน “คุรุราชัน พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” เป็นโครงการที่ได้รับความชื่นชม และทำให้นักศึกษาผู้ที่อาจจะไม่ทันได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทุกหย่อมหญ้าของประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้น โดยเชื่อว่าอีก 50 ปีข้างหน้าเยาวชนรุ่นหลังต้องมานั่งคุยกันถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมือนกับที่ทุกวันนี้เรายังคุยกันถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก รวมทั้งทรงพระราชทานสิ่งต่าง ๆ ไว้ตราบจนทุกวันนี้ ทำให้พระองค์เป็นที่รัก และหวงแหนของคนไทยทั้งชาติ จึงขอให้ลูกหลานเยาวชนทุกคนน้อมนำปรัชญาด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้กับแนวทางการเป็นครูในอนาคต ที่จะช่วยการปลูกฝังลูกหลานเยาวชนให้มีความรอบรู้และเป็นคนดีในสังคม อีกทั้งสามารถน้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นศาสตร์ในการพัฒนาการศึกษา
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ลูกหลานที่จะเป็นครูในอนาคตมีความแม่นยำเรื่องข้อมูลต่าง ๆ เช่น ประเทศไทยมี 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ 77 จังหวัดอย่างที่เข้าใจกัน อีกทั้งผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และสร้างความเข้าใจให้กับเด็ก โดยต้องเป็น Idol ที่ดี พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กมี Idol ซึ่งไม่มีไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Idol ที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ ตลอดจนต้องส่งเสริมให้เด็กมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่เรียนดีเรียนเก่ง มีอาชีพการงานแล้วกลายเป็นคนหลงลืมตัว ซึ่งไม่ใช่เอกลักษณ์ของคนไทย
ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้ที่จะไปเป็นครูอาจารย์ในวันข้างหน้าย้ำเตือนลูกศิษย์ว่าถ้า ให้รู้จักเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะหากเราไม่รู้จักวันวาน เราก็จะไม่รู้ที่มาของปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร และอย่ามองแต่วันนี้หรือมองอนาคต และสอนให้เด็กมีความรู้รักสามัคคี ดังเช่นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ความว่า “ชาติใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล แม้ชาติย่อยยับอับจน บุคคลจะสุขได้อย่างไร” ซึ่งเป็นคำสอนที่ทันสมัยตลอดกาล ในการสอนให้เกิดความรู้รักสามัคคี เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน (มทร.)
อิทธิพล รุ่งก่อน, ยทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
4/4/2560