งาน AUN-QA 2018

รมช.อุดมย้ำ “อุดมศึกษาช่วยสร้างคนที่ประกอบอาชีพได้และสร้างนวัตกรรมเป็น”

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), Asean University Network และ Asean University Network Quality Assurance (AUN-QA) จัดงาน AUN-QA 2018 International Confenrence ภายใต้หัวข้อ QA in Higher Education for SDGs: Converging Global Aspiration with National Realities โดยมี ศ.คลินิก นพ. อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมดุสิต ธานี กรุงเทพฯ และมี ศ.นพ. บรรจง มไหสวริยะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ Executive Director, Asean University Network และผู้บริหารตลอดจนคณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียน เข้าร่วมกว่า 200 คน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21 กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างหลากหลาย ในการเตรียมความพร้อมกำลังคนให้สามารถปรับตัวรองรับงานในอนาคต รองรับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ตลอดจนเศรษฐกิจฐานความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ การอุดมศึกษาต้องปรับก่อน โดยปรับทั้งในเชิงปริมาณ เพื่อรองรับการเกิดของประชากรที่ลดลงและสถาบันอุดมศึกษาค่อย ๆ ปิดตัวมากขึ้น ส่วนในเชิงคุณภาพ ต้องปรับเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนในทุกช่วงวัยและตอบสนองรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่า “ต้องปฏิรูปเพื่อให้อยู่รอด” นั่นเอง

โดยสถาบันอุดมศึกษา ต้องปรับเพื่อให้การอุดมศึกษามีส่วนสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถประกอบอาชีพได้ สร้างนวัตกรรมเป็นทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบทุกที่, สร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน, ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และครอบคลุม และการจ้างงานเต็มอัตรา และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน, สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม เป็นต้น

ในส่วนการบริหารจัดการกับความท้าทายดังกล่าว เชื่อว่าการประกันคุณภาพการศึกษา จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการสร้างมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงมีความยินดีที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งของไทยและอาเซียนได้นำ AUN-QA มาใช้พัฒนาคุณภาพการอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานทางวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพด้านการศึกษา วิจัย และการบริการวิชาการระหว่างสมาชิก AUN และสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วย โดยความเป็นเลิศจะก่อเกิดจากความพยายามที่ละเล็กที่ละน้อย จากความตั้งใจและความร่วมมือของผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งมั่นใจได้ว่าคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก จะมีความยั่งยืนและมีอนาคตที่สดใสอย่างแน่นอน

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
26/3/2561