จัด กศ.เมืองต้นแบบ เบตง

ศธ.ประชุมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ
เมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
อำเภอเบตง




พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อเป็นประธานการประชุม “การจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่รัฐบาลประกาศให้อำเภอเบตง เป็นเมืองต้นแบบ “การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development City) โดยมุ่งหวังให้มีแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการของจังหวัดและเมืองต้นแบบที่สมบูรณ์ ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้าใจถึงนโยบาย และเกิดความร่วมมือในการบูรณาการจัดการศึกษาสู่การพัฒนาเมืองเบตงอย่างยั่งยืน และตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจัดตั้ง “แผนการเรียนวิทย์-กีฬา และศิลป์-กีฬา” ที่ อ.เบตง และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี



 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2559 เวลา 13.00-15.00 น.  พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ เดินทางถึงวิทยาลัยการอาชีพเบตง เพื่อเข้าร่วมประชุมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อำเภอเบตง


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เปิดเผยถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เห็นชอบหลักการ โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (ปี พ.ศ.2560-2563) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) จัดทำโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่




  • อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ให้เป็นเมืองต้นแบบ “การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” (Agricultural Industry City)



  • อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเมืองต้นแบบ “การค้าชายแดนระหว่างประเทศ” (International Border City)



  • อำเภอเบตง จังหวัดยะลา  ให้เป็นเมืองต้นแบบ “การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development City)


โดยมีแนวทางการพัฒนาแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ


1) ระยะเร่งด่วน เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน ออกมาตรการด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน จัดตั้งกองทุนส่งเสริมธุรกิจรุ่นใหม่ของแต่ละอำเภอ


2) ระยะที่ 2 สนับสนุนการลงทุนระยะแรก


– อำเภอหนองจิก ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตการเกษตรเป็นสินค้า OTOP ปรับปรุงท่าเรือปัตตานี ละถนน


– อำเภอสุไหงโก-ลก  จัดตั้ง Free Trade Zone ก่อสร้างสะพานโก-ลก แห่งที่ 2 ศึกษาความเหมาะสมศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้า โรงงาน ศูนย์นิทรรศการ


– อำเภอเบตง พัฒนาการท่องเที่ยวครบวงจรและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพระบบไฟฟ้าและระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ


3) ระยะที่ 3 การเชื่อมโยงระบบขนส่งทั้งหมดไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ


เพื่อให้การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อรองรับพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดยะลา จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาทุกหน่วยงานและภาคสังคมในจังหวัดยะลา เพื่อนำผลจากการประชุมไปขับเคลื่อนการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดยะลา ให้สอดคล้องกับโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”



อำเภอเบตง: ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์ 22 กลยุทธ์ สู่การพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบ “ด้านการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนดังนี้




  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  โดยมี 4 กลยุทธ์ที่สำคัญ เช่น เร่งรัดการก่อสร้างสนามบินเบตงตามมาตรฐานสากล การพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคม และเส้นทางการคมนาคมสายใหม่มายังเบตง รวมทั้งปรับปรุงผังเมือง ระบบสาธารณูปโภค ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเป็นเมืองต้นแบบ เป็นต้น



  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจเมืองเบตงอย่างยั่งยืน โดยมี 13 กลยุทธ์ที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมการดำรงชีวิตโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระบบความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเบตงด้วยนวัตกรรม เป็นต้น



  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารจัดการเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน  โดยมี 5 กลยุทธ์ที่สำคัญ เช่น เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐกับประชาชนในเรื่องยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเมืองไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและมีธรรมาภิบาล การทำงานแบบบูรณาการในรูปแบบประชารัฐ การมีส่วนร่วมการพัฒนาพลังงานที่มีเสถียรภาพเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เป็นต้น



ด้านการศึกษา: คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ยะลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วางแผนการบูรณาการจัดการศึกษาจังหวัดยะลา กับโครงการเบตงเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้สอดคล้องทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ 22 กลยุทธ์ โดยจัดทำแผนงานและโครงการที่รองรับนโยบายเมืองต้นแบบไว้แล้วจำนวนทั้งสิ้น 62 โครงการ สำหรับหน่วยงานทุกสังกัดในกระทรวงศึกษาธิการ 8 หน่วยงาน ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย แยกเป็น




  • สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ได้วางแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2 จำนวน 8 โครงการ



  • สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 ได้วางแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2 จำนวน 5 โครงการ



  • สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ได้วางแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2 จำนวน 5 โครงการ



  • สำนักงาน กศน.จังหวัดยะลา ได้วางแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2 จำนวน 10 โครงการ



  • อาชีวศึกษาจังหวัดยะลา ได้วางแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 1,2,3 ครบทุกยุทธศาสตร์ จำนวน 28  โครงการ



  • วิทยาลัยชุมชนยะลา ได้วางแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2,3 จำนวน 4 โครงการ



  • มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้วางแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2 จำนวน 1 โครงการ



  • ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ได้วางแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2 จำนวน 1 โครงการ


แนวทางการจัดการเรียนรู้: ใช้วิธีบูรณาการโดยการสอดแทรกในเนื้อหารายวิชา รวมทั้งจัดรายวิชาเพิ่มเติม โดยเน้นการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ ซึ่งเนื้อหาในการจัดการเรียนรู้ มีทั้งการส่งเสริมองค์ความรู้พื้นฐาน เช่น ภาษา ธุรกิจศึกษา เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ และองค์ความรู้พื้นถิ่น เช่น อาหาร จะมีการส่งเสริมในการเลี้ยงไก่เบตง ปลาจีน กบภูเขา ปลูกผักน้ำ รวมทั้งการทำอาหารบักกุ๊ดเต๋ และเฉาก๊วย และเนื้อหาหลักสูตรยังมีเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดยะลาและอำเภอเบตง ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ เชิงนิเวศน์ และเชิงกีฬา/สุขภาพ เป็นต้น


ทั้งนี้ กลไกการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบของเบตง มี กศจ.ยะลา เป็นหน่วยงานหลัก และ ศปบ.จชต.เป็นหน่วยงานประสนในภาพรวมกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาเมืองต้นแบบเบตง คงไม่ได้มองเฉพาะที่อำเภอเบตงเท่านั้น แต่คำนึงถึงการพัฒนาอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดยะลาเช่นกันด้วย เพื่อให้สอดรับกับการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในภาพรวม จึงฝากให้ทุกหน่วยงานเตรียมแผนงานและโครงการที่วางไว้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถจัดการศึกษาให้มีความพร้อมและต่อเนื่องให้มากที่สุดสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำไว้เสมอว่า การดำเนินการด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล จะยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจ เพราะฉะนั้นจึงฝากเรื่องการสร้างการรับรู้ให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนได้รับทราบการทำงานของพวกเราในครั้งนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น



อนึ่ง ในการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจัดตั้ง “แผนการเรียนวิทย์-กีฬา และศิลป์-กีฬา” ตามแผนพัฒนาการกีฬาสำหรับนักเรียน ตามโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงเรียนเบตง “วีระราษฎร์ประสาน” อ.เบตง จ.ยะลา และโรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งจะเริ่มเปิดหลักสูตรดังกล่าวในระดับชั้น ม.4 ในประเภทกีฬาวอลเลย์บอล (หญิง) และฟุตบอล (ชาย) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป



จากการตรวจเยี่ยมพบว่า โรงเรียนทั้งสองแห่งมีการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดรับสมัครคัดเลือกนักเรียนรุ่นแรกเข้าเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เช่น โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ มีความพร้อมเรื่องสถานที่อาคารหอพักใหม่ จำนวน 3 ชั้น 20 ห้องพัก สามารถรองรับนักเรียนเข้าพักประจำได้ห้องละ 4 คน รวมทั้งสิ้น 80 คน รวมทั้งห้องพักครูอีก 2 ห้อง จึงเห็นชอบกับการวางแผนของโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการต่อเนื่องต่อไป โดยแนะให้โรงเรียนไปศึกษาและสอบถามข้อมูลกับผู้อำนวยการหลักสูตรดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ทั้งยังฝากให้มีความรัก ความสามัคคี ความกลมเกลียวเป็นหลักในการทำงาน


หลังจากนี้จะนำข้อมูลต่าง ๆ ไปพิจารณาภาพรวมของโรงเรียนทั้งหมด 8 แห่ง ที่จะเปิดแผนการเรียนวิทย์-กีฬา และศิลป์-กีฬา ตามโครงการสานฝันการกีฬาฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีการศึกษา 2560 ต่อไป



บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ/กราฟิก

22/12/2559