ตรวจเยี่ยม รร.สัตยาไส
จังหวัดลพบุรี – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนสัตยาไส อำเภอชัยบาดาล เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2559 โดยมี ศ.ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไส, นางลัดดา จุลวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส, นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี, นายอำเภอชัยบาดาล, นายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2, ผู้บริหารสถานศึกษา, ครู และนักเรียน ให้การต้อนรับ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนสัตยาไสเปิดทำการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลา 24 ปีแล้ว โดยมุ่งสอนให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรม และสร้างคนดีที่มีความรู้โดยสมบูรณ์ ตามแนวทางของท่านสัตยาไสที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีแนวคิดว่าการศึกษานั้นซื้อขายไม่ได้ และไม่ให้จ่ายเงินเพื่อให้เกิดการจ้างสอน เด็กที่โรงเรียนสัตยาไสจึงเรียนฟรีและเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะของใช้ส่วนตัวในโรงเรียนเท่านั้น
ปัจจุบันโรงเรียนสัตยาไส มีรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะของประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กล่าวคือภาครัฐให้เงินอุดหนุนรายหัวแก่เด็กนักเรียน และภาคเอกชนหลายบริษัทให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษา ส่วนภาคประชาสังคมจะให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยมูลนิธิต่าง ๆ ทำให้โรงเรียนสัตยาไสเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
นอกจากนี้ พบว่าสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงได้นำรูปแบบโรงเรียนคุณธรรม ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เพื่อพัฒนาสถานศึกษา ซึ่งแนวทางของโรงเรียนสัตยาไสและโรงเรียนคุณธรรมมีความคล้ายคลึงกันและสามารถร่วมดำเนินการไปพร้อมกันได้ โดยไม่ได้แบ่งแยกศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสร้างคนให้เป็นคนดี
ในส่วนของการประเมินและการวัดความดีของเด็กนักเรียนนั้น ทำได้โดยการประเมินระบบของสถานศึกษาว่าสามารถสนับสนุนการสร้างคนดีได้หรือไม่ หรือการศึกษาว่าสถานศึกษามีแนวทางสนับสนุนให้เด็กบรรลุความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้นำระบบโรงเรียนคุณธรรมเข้ามาใช้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการประกันคุณภาพของคนดีในสถานศึกษา หากโรงเรียนใดมีการนำโรงเรียนคุณธรรมไปปรับใช้จะถือว่ามีระบบประกันให้เด็กเป็นคนดีในเบื้องต้นแล้ว โดยไม่ต้องมานั่งให้คะแนนเด็กแต่ละคนว่าได้คะแนนด้านคุณธรรมเท่าไร ดังนั้นโรงเรียนสัตยาไสไม่ใช่โรงเรียนทางเลือกแต่เป็นโรงเรียนทางตรงในการสร้างคนดี
นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับ Sri Sathaya Sai Institute of Higher Education ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศอินเดีย โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า Sri Sathaya Sai Institute of Higher Education มีปรัชญาของสถานศึกษา คือ การสร้างคนให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีน้ำใจ และมีความรู้ ด้วยการรับคนเก่งมาศึกษาต่อและพิจารณาว่าเด็กเหล่านี้มีโอกาสพัฒนาให้เป็นคนดีได้หรือไม่ อีกทั้งเน้นจิตวิญญาณของการศึกษาโดยมุ่งเน้นการศึกษาที่ให้จิตวิญญาณ ซึ่งมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน อาทิ จัดการอบรมวัฒนธรรมให้กับนักเรียนในช่วงปิดภาคเรียน, นักศึกษาต้องปฏิบัติกิจในศาสนาของตนเองทุกเช้าเนื่องจากมีนักศึกษาจากศาสนาที่แตกต่างกัน, กิจกรรมด้านดนตรี การละคร การพูดในที่สาธารณะ โยคะ ตลอดจนกีฬาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการสอนให้เด็กทุกคนรับใช้ชุมชนของตนเอง ทั้งนี้ ในอนาคตประเทศไทยมีแนวทางที่จะนำแนวคิดของมหาวิทยาลัยดังกล่าวมาจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย โดยคาดว่าจะก่อตั้งสถาบันภูมิราชธรรมซึ่งเน้นสอนทศพิธราชธรรมและเป็นเรียนกินนอน เด็กเรียนฟรี และจะเปิดทำการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตรก่อนในลำดับแรก คือ ภาษาอังกฤษและศึกษาศาสตร์ โดยมีมูลนิธิและสถาบันต่างๆ ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่จะทำให้การจัดการศึกษาประสบผลสำเร็จในทุกระดับจะต้องคำนึงถึงการตั้งวัตถุประสงค์ 3 ด้าน ได้แก่
-
School Aims เป้าหมายระดับโรงเรียน คือ การสร้างคนดีให้บ้านเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงเรียน ผู้บริหาร และครู
-
Curriculum Aims เป้าหมายในระดับหลักสูตร คือ การบูรณาการความรู้และสร้างคนที่มีความรู้คู่คุณธรรม
-
Subjects Aims คือ การตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ในระดับรายวิชา

ศ.ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไส กล่าวว่า โรงเรียนสัตยาไสดำเนินการเรียนการสอนภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างคนดีเหนือสิ่งอื่นใด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคนดีมีคุณธรรม ซึ่งจะมีการบูรณาการคุณธรรมกับเนื้อหาด้านวิชาการของทุกรายวิชา เด็กนักเรียนจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 และสวดมนต์ตอนเช้าก่อนเข้าเรียน พร้อมทั้งสอนรายวิชาคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นวิชาแรกของทุกวัน อีกทั้งการเรียนการสอนจะเน้นหลักความจริง ความรักและความเมตตา ความประพฤติชอบ ความสงบ และความอหิงสา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหลักคุณธรรมพื้นฐานทั่วไป ไม่ได้เน้นศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เนื่องจากมีเด็กนักเรียนที่มาจากทุกศาสนา
นอกจากนี้ การจัดการเรียนการสอนจะเน้นให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมกับสถานศึกษาในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีคณะต่าง ๆ จากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนสัตยาไสจำนวนมาก

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ด้านวิชาการและทักษะชีวิตในด้านต่าง ๆ ในบริเวณโรงเรียน และร่วมรับประทานอาหารมังสวิรัติและรับชมการแสดงของเด็กนักเรียนในโรงเรียนด้วย
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น / บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป / รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น : ถ่ายภาพ
2/7/2559