ตรวจเยี่ยม ITD

เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ อนุรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ ร.ต.ไชยวุฒิ วุฑฒิรักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.) หรือ International Institute for Trade and Development (ITD) (หมายเหตุ : นิยมเรียกคำย่อว่า ITD)  ซึ่งเป็น 1 ใน 3งค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ  นอกจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ITD มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้การศึกษา อบรม และค้นคว้าวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนา และดำเนินกิจกรรมอื่นที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD) ซึ่งหน่วยงานนี้เป็นกำลังสำคัญต่อการสร้างความพร้อมให้ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในอันที่จะแสวงประโยชน์จากผลของโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ และก่อให้เกิดผลโดยตรงในด้านการพัฒนาสมรรถนะให้แก่บุคลากรในประเทศเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ที่เข้ารับบริการจาก ITD อีกด้วย


จากการพบปะหารือกับ ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ ITD รวมทั้งนายมนู สิทธิประศาสน์ รองผู้อำนวยการ (บริหาร) นางปิยะพร เอี่ยมฐิติวัฒน์ รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) และคณะผู้บริหาร ตลอดจนคณะกรรมการสถาบันฯ เห็นว่า ITD เป็นหน่วยงานที่มีเกียรติยศอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันเมื่อปี 2545 โดยมีภารกิจสำคัญที่จะเป็นศูนย์การศึกษาฝึกอบรมและบริการวิชาการด้านการค้าและการพัฒนาในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน เช่น ในปี 2558 มีงานวิจัยด้านการค้าและการพัฒนาที่ครอบคลุมขอบเขตเนื้อหาในภูมิภาคและอนุภูมิภาคถึง 7 เรื่อง แม้จะมีบุคลากรทั้งสถาบันเพียง 45 คนก็ตาม แต่ก็มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในไทย-ต่างประเทศ รวม 3 บทความ มีการพัฒนานวัตกรรมการจัดการความรู้ในหลักสูตรต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นอุบัติใหม่ (Emerging Issues) เพื่อยกระดับบุคลากรในประเทศ และให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านการค้าระหว่างประเทศ การเงิน การคลัง การลงทุน การพัฒนา ให้สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์ กว่า 80 กิจกรรม มีผู้เข้ารับบริการจาก ITD กว่า 7,863 คน นอกจากนี้ มีกิจกรรมในการบริหารจัดการองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการถ่ายทอดความรู้จาก ITD ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จำนวนมาก


สำหรับปี 2560 ITD มีโครงการสำคัญหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง คือ กระทรวงการคลัง  กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ประโยชน์จากเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ การฝึกอบรมกฎหมายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ การฝึกอบรมผู้บริหารอาชีวศึกษาในการก้าวสู่ Thailand 4.0 การฝึกอบรมเจาะลึกทิศทางการพัฒนาด้านการค้าบริการในอาเซียน เป็นต้น


จึงต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ประโยชน์จากผลการดำเนินงานที่มีคุณภาพของ ITD ให้มากขึ้น โดย ITD และกระทรวงศึกษาธิการต้องเปิดกว้างที่จะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผู้คนภายนอก รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการอาจจะยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ภารกิจของ ITD ได้อย่างชัดเจนมากนัก แต่ด้วยผลงานที่ปรากฏของ ITD มีคุณภาพ และมีส่วนสำคัญต่อการกระจายความรู้เพื่อการพัฒนาที่เป็นประโยชน์แก่บุคลากรภายในประเทศ รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องการให้คนไทยสนใจในสิ่งดี ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเช่นนี้ให้มากขึ้น


และในฐานะที่ ITD ทำงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค จึงขอให้ ITD ได้ร่วมเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาสตร์พระราชา” ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานในกรอบที่ ITD สามารถดำเนินการได้



ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล กล่าวว่า พันธกิจที่สำคัญของ ITD คือ จะพัฒนาสถาบันให้เป็นศูนย์กลางเพื่อให้บริการด้านการฝึกอบรม สนับสนุนงานวิจัย และงานวิชาการด้านการค้า การเงิน การคลัง การลงทุน การพัฒนา และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือและแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น








 

เกี่ยวกับ ITD



แนวคิดในการจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา มีความริเริ่มมาจากนายรูเบนส์ ริคูเปโร เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ “อังค์ถัด” ซึ่งแนวคิดดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากแรงจูงใจที่จะสนองตอบขอบคุณรัฐบาลไทยอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพของการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของอังค์ถัด ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งเป็นความปรารถนาส่วนตัวมาช้านานของนายริคูเปโร ที่ต้องการจะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ยั่งยืนถาวร และเป็นแหล่งแพร่กระจายความรู้เพื่อการพัฒนาที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย


ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1997 นายรูเบนส์ ริคูเปโร ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อวางแผนจัดการประชุมอังค์ถัด 10 และในโอกาสนั้นเลขาธิการอังค์ถัดได้นำเสนอแผนงานการจัดตั้งองค์กรขึ้น ซึ่งในชั้นนั้นเรียกว่า “สถาบันเพื่อการพัฒนา (Institute of Development)” และรัฐบาลไทยยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว หลังจากนั้นจึงเปิดเวทีการเจรจาขึ้นระหว่างอังค์ถัดกับผู้แทนรัฐบาลไทยต่อมาเป็นระยะ เพื่อจัดทำความตกลงร่วมมือกัน จนปรากฏผลเป็น “สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา”


รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอังค์ถัดทั้ง 190 ประเทศ และผู้แทนกว่า 100 คน จากองค์กรระหว่างประเทศแลองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แลกเปลี่ยนทัศนะและความคิดเห็นและได้มีการหารือกันเพื่อจัดตั้งสถาบันฯ ใหม่สัมฤทธิ์ผลในบริบทดังกล่าว ด้วยการลงนามในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาขึ้น ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามแทนรัฐบาลไทย และนายรูเบนส์ ริคูเปโร เลขาธิการอังค์ถัดเป็นผู้ลงนามแทนสหประชาชาติ การลงนามในความตกลงนี้ถือเป็นจุดเด่นของการประชุมอังค์ถัดครั้งที่ 10 และเป็นสิ่งที่นายริคูเปโร ถือว่าเป็นรูปธรรมหนึ่งของการประชุมที่จะยั่งยืนอยู่สืบไป


สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 ปัจจุบันสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของรัฐบาลไทย โดยมีสถานะเป็นองค์การมหาชน เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ที่ชั้น 8 อาคารวิทยพัฒนา ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ปัจจุบัน สถาบันฯ ดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย อังค์ถัด องค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ และองค์กรระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค www.itd.or.th

 



บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ

3/3/2560