ตรวจเยี่ยม Partnership School นครปฐม-ราชบุรี

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และโรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม 2561

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการและคณะผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาอีก 2 แห่ง เพื่อให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาไปสู่ความร่วมมือในอนาคต เพราะรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมุ่งหวังจะให้โครงการนี้เป็นหัวขบวน และจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ โดยเริ่มจากการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยหลักคิดพื้นฐานที่ว่า “ทุกคนต้องการให้ลูกหลานได้รับวิชาความรู้จากโรงเรียนที่ดีใกล้บ้าน” เช่นเดียวกับโรงเรียนดีเด่นดังในเมืองใหญ่

อย่างที่ทราบกันดีว่า กระทรวงศึกษาธิการทำงานเพียงลำพังไม่ได้ และกระทรวงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดูแลงบประมาณ คุณภาพ และมาตรฐาน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งผู้ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชนที่มีจิตใจที่จะพัฒนาการศึกษา ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นที่จะเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียน หากทำได้อย่างจริงจังต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถพลิกโฉมโรงเรียนที่ขาดแคลนอย่างมากในด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้นและมีมาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนอันดับต้น ๆ ของประเทศ เมื่อนั้นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็จะค่อย ๆ ลดลง และความคาดหวังที่จะขยายต้นแบบโครงการ Partnership School ไปยังโรงเรียนสังกัด สพฐ. กว่า 30,000 แห่ง ก็คงไม่ยากเกินไป หากได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย

โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 232 คน มีครู บุคลากร 15 คน โดยนายพิบูลย์ แก้วไทยนันท์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสยามพรีเสิร์ฟฟู้ดส์ นำโดยนายบุญญาเกียรติ เนตรจรัสแสง ประธานที่ปรึกษา กลุ่มสยามพรีเสิร์ฟฟู้ดส์

จุดเด่นของโรงเรียนอยู่ที่ความร่วมมือของชุมชน ท้องถิ่น และผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียน ตลอดจนมีวัดปลักไม้ลาย ซึ่งมีพระครูสุธรรมนาทเป็นเจ้าอาวาส ที่เป็นศูนย์รวมในการส่งเสริมคุณธรรมประเพณี ทำให้นักเรียนเติบโตเป็นกำลังคนที่มีความรู้ทางวิชาการ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนทักษะชีวิต ซึ่งกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่

  • ด้านพัฒนาผู้เรียน ให้มักทักษะฝีมือตามความชอบและถนัด การเกษตรสมัยใหม่ สุนทรียภาพด้านดนตรีและการแสดงออก ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง มหาวิทยาลัยนราชภัฏนครปฐม วิทยาลัยสารพัดช่างนครปฐม สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น

  • ด้านสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย โดยจะปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด ห้องเอ็นเตอร์เทน และห้องคอมพิวเตอร์

  • ด้านผู้สอน มีโครงการคืนครูสู่นักเรียน เพื่อจัดจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการและเจ้าหน้าที่การเงิน เพื่อให้ครูได้กลับไปทำการสอนอย่างเต็มที่ และพัฒนาครูเป็นโค้ชชิ่ง ที่จะให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และพัฒนานักเรียนด้านวิชาการด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning

โรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียน 840 คน มีครูและบุคลากร 57 คน โดยนายจรัญ สุขเสรี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มมิตรผล นำโดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทมิตรผล

จุดเด่นของโรงเรียน คือ โครงสร้าง นโยบาย และบทบาทที่ชัดเจน มีเทคโนโลยีสนับสนุนการสอน ภูมิทัศน์สะอาด และกว้างขวางเอื้อต่อการจัดกิจกรรมของชุมชน สิ่งสำคัญคือ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน ชุมชน และผู้ปกครองเพื่อร่วมพัฒนาโรงเรียน ทั้งนี้มีแผนที่จะพัฒนาโรงเรียนอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำวิจัยและนวัตกรรมในชั้นเรียน, การพัฒนาครูในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการคิดการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องการการสนับสนุนงบประมาณจ้างบุคลากรเฉพาะทาง ในส่วนของนักเรียน เน้นส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพ ทักษะในศตวรรษที่ 21 นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และจัดทุนสำหรับนักเรียนด้อยโอกาส

ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุมทั้งสองแห่งได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์หลายประการ อาทิ

  • ชื่นชมโครงการที่ช่วยยกระดับการศึกษาของเด็กในชนบท แต่ยังคงความสัมพันธ์เชื่อมโยงการศึกษากับชุมชนไว้อย่างเหนียวแน่น

  • การที่มีโรงเรียนให้การศึกษาในหมู่บ้านชุมชน นอกจากใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยดึงให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนได้มากขึ้น

  • โรงเรียนมีส่วนช่วยรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี คุณธรรมจริยธรรมที่ดีงาม ตลอดจนวิถีชุมชน

  • การมีโรงเรียนที่ดีอยู่ใกล้บ้าน ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ลดปัญหาทางสังคม และลดรายจ่ายในครัวเรือนได้บางส่วนด้วย

  • ทุกภาคส่วนขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการและภาคเอกชนที่จัดโครงการดี ๆ เช่นนี้

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมครั้งนี้ มีผู้เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก เช่น นายมีชัย วีระไวทยะ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Partnership School, นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ตัวแทนศึกษาธิการภาค, นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม, นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี, นายบุญญาเกียรติ เนตรจรัสแสง ประธานที่ปรึกษา กลุ่มสยามพรีเสิร์ฟฟู้ดส์, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทมิตรผล, ตลอดจนผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนในพื้นที่ทั้งสองแห่ง


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit สุรัตน์ ภู่สุวรรณ
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร