ตรวจเยี่ยม Partnership School อยุธยา

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่โรงเรียนวัดนาคู (จันทศึกษาคาร) อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561 โดยมีคุณอรพินธ์ สุชาติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และคณะทำงาน, นายเรวัต ประสงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนผู้บริหารกระทรวง ศึกษาธิการภาค 1 ศึกษาธิการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน ตลอดจนผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับและร่วมประชุมหารือ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีกับโรงเรียนวัดนาคู (จันทศึกษาคาร) ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 50 โรงเรียนแรกในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาล โดยมีหลักการของโครงการที่สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมพัฒนาและสนับสนุนโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเชื่อว่า “พลังจากภายนอก” จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการบริหารงานในแนวทางใหม่ ๆ ที่จะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ที่ดี สร้างเด็กไทยตอบโจทย์อนาคตคนไทยยุค 4.0 ปรับโรงเรียนให้เป็นมากกว่าสถานที่เรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน พร้อมเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นเข้ามาร่วมจัดการศึกษาอีกแรง นอกเหนือจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่พยายามร่วมมือกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

ซึ่งต้องยอมรับว่า แม้โรงเรียนวัดนาคูฯ จะเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในตำบลนาคู แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานร่วมกันของคณะครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชนอย่างเช่นบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ด้วยหลักความอิสระของโครงการ 3 ประการ ทั้งอิสระในการออกแบบหลักสูตร อิสระในการออกแบบจัดการเรียนการสอน และอิสระในการบริหารจัดการ เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนก้าวหน้าไปได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถยกระดับจากโรงเรียนขนาดเล็กไปสู่โรงเรียนขนาดกลางตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ในที่สุด

นางวาสนา มะณีเรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนาคูฯ กล่าวรายงานว่า ภายหลังได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนก็ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับแผนการจัดการศึกษาและการบริหารงาน โดยมีความเห็นร่วมกันที่จะนำ Business Model Canvas ซึ่งเป็นเครื่องมือออกแบบโมเดลธุรกิจผ่านปัจจัย 9 ด้าน มาปรับใช้กับการบริหารงานการศึกษา เพื่อพลิกโฉมโรงเรียนและยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างรายได้แก่ชุมชนโดยรอบ อาทิ Customer Segment: ลูกค้าคือใคร ซึ่งก็หมายถึงนักเรียนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.3 จนกระทั่งถึง Value Propositions: คุณค่าของธุรกิจ ซึ่งโรงเรียนมีเป้าหมายสูงสุดในการที่จะสร้างคุณค่าแก่นักเรียนอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะผู้เรียนที่พึงประสงค์ 3R 8C, ทักษะการอ่านออกเขียนได้, การปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based Learning) และสอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย หรือ BBL (Brain-based Learning), การพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อการเรียนรู้และโครงงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, การมีคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนนักเรียนสามารถต่อยอดอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้

อนึ่ง Business Model Canvas เป็นเครื่องมือออกแบบโมเดลธุรกิจผ่านปัจจัย 9 ด้าน ประกอบด้วย Value Propositions: คุณค่าของธุรกิจเรา, Customer Segment: ลูกค้าของเราเป็นคนแบบไหน, Customer Relationships: การสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า, Channels: ช่องทางการเข้าถึง, Key Activities: สิ่งที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจนี้, Key Partners: พาร์ทเนอร์หลักของเรา, Key Resource: ทรัพยากรที่จำเป็นของบริษัท, Cost Structure: ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจคืออะไร และ Revenue Streams: รายได้ของเรามีอะไรบ้าง

ตัวแทนประชาชน ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความรู้สึกยินดี ที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในระดับท้องถิ่น และดีใจเป็นอย่างมากที่โรงเรียนวัดนาคูฯ เป็นโรงเรียนแห่งเดียวในอำเภอผักไห่ที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา และกำลังจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ต้นกล้าทางการศึกษาที่สำคัญยิ่งของชุมชน โดยพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับทางโรงเรียนอย่างดีที่สุด เพื่อพัฒนาการศึกษาให้นำความเจริญยั่งยืนมาสู่พื้นที่


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit
สุรัตน์ ภู่สุวรรณ
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร