ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) เป็นแห่งแรกที่โรงเรียนวัดจุฬามณี (ชุณหะจันทนประชาสวรรค์) อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2561 โดยมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการบริษัท บริษัทไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง (ไทยเบฟ) และคณะทำงาน, นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนผู้บริหารกระทรวง รองศึกษาธิการภาค 1 ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน
หลักการสำคัญของโครงการ
-
อิสระในการออกแบบหลักสูตรเอง ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของเวลาเรียน ซึ่งจะทำให้เป็นโรงเรียนต้นแบบที่จะสร้างอนาคต
สร้างอาชีพให้กับนักเรียน เชื่อมโยงและร่วมแก้ปัญหาของชุมชน ดัง เช่นตัวอย่างของโรงเรียน นี้ท ี่เน้น Smart Farming โดยจัดหลักสูตรให้นำนักเรียนไปศึกษาดูงานบริษัทใกล้เคียงโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนจากของจริงทุกวันศุกร์ ไม่ใช่เรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น -
อิสระในการออกแบบจัดการเรียนการสอนเอง โดยเน้นการคิดวิเคราะห์ ครูต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องหมั่นตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้ฝึกคิด จากนั้นจึงใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้จากของจริง ครูจึงต้องพานักเรียนมาเรียนของจริงในสถานที่จริง ให้เด็กได้เรียนในแปลงเกษตรของโรงเรียน สามารถบูรณาการการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งภูมิอากาศ สภาพดิน เคมีในปุ๋ย ปุ๋ยธรรมชาติ ฯลฯ
-
อิสระในการบริหารจัดการเอง โดยรูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนามีความพิเศษคือ ขึ้นตรงกับเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง มีการปลดล็อคระเบียบต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น มีคณะกรรมการสถานศึกษาที่มาจากผู้แทน 4 ฝ่ายเข้ามาช่วยบริหารจัดการ คือ ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง โดยมีผู้แทนภาคเอกชนเป็นประธานกรรมการสถานศึกษา เพื่อจะได้นำแนวคิดการทำงานแบบใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียนให้ไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จะมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนงานในด้านต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง ถือเป็นจุดเริ่มต้นสนองตอบต่อ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ว่า “…จัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ และ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าว มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล…”
“ด้วยรูปแบบโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบขยายไปสู่ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ และกระจายให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมดูแลจัดการศึกษาในพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้กระทรวงเล็กลง โดยกระทรวงจะตามในเรื่องคุณภาพการศึกษาเท่านั้น เพราะกระทรวงไม่ใช่เจ้าของการศึกษา หากแต่เจ้าของที่แท้จริงคือ ประชาชน ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กล่าวว่า กลุ่มไทยเบฟรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะมาร่วมทำหน้าที่ในการบริหารจัดการโรงเรียนตามโครงการนี้ โดยจะเติมเต็มในส่วนที่เราถนัด พร้อมทั้งจะหารือกับภาคีเครือข่าย รวมทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิเข้ามาพัฒนาและสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นตามภูมิสังคม โดยจะให้ความสำคัญในการบริหารจัดการศึกษาสำหรับนักเรียน 3 เรื่องที่สำคัญ คือ ทักษะการใช้ชีวิต ทักษะอาชีพ และการเป็นคนดีของสังคม
นอกจากนี้ จะได้ต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนวัดจุฬามณี ซึ่งจะยังคงหลักการทำงานของ “บ ว ร” ไว้อย่างเหนียวแน่น นอกจากคำนึงถึงการเป็น “บ้าน-วัด-โรงเรียน” แล้ว อาจต้องขยายความให้ครอบคลุมไปถึง “บ” คือบริษัท “ว” คือ วิสาหกิจชุมชน และ “ร” คือราชการ
“เด็กที่นี่มีความฝัน มีความต้องการที่เป็นจุดหมายของตัวเอง ผู้ใหญ่อย่างเราเพียงแค่ช่วยกระตุ้นส่งเสริม ให้พวกเขาได้เป็นในสิ่งที่คาดหวังอย่างเข้มแข็ง ทั้งทางทักษะความรู้ ความคิด คุณธรรม การสร้างรายได้ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นรากเหง้าของความเป็นท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเด็กเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่และประเทศได้ในอนาคต”
นายชาญวิทย์ ผลชีวิน คณะทำงาน กล่าวว่า โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาแห่งนี้ ทำให้เด็กได้เรียนรู้จริง ๆ จากสถานที่จริง รวมทั้งการธำรงรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้เป็นอย่างดี เช่น นายขนมต้ม พร้อมทั้งมีการเพิ่มทักษะนอกห้องเรียน เน้นให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม ก็จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ชัดเจน เช่น เริ่มต้นจากการเป็นมัคคุเทศก์น้อย พูดได้ 3 ภาษา ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเติบโตเป็นคนเก่ง คนดี มีคุณธรรม นำความรู้ทักษะที่หลากหลายจากท้องถิ่นไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดยที่ทักษะเหล่านี้จะร้อยเรียงติดตัวกันจนเติบโต