ตั้งมหาวิทยาลัยอมตะรองรับ Smart City

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University) จัดการศึกษาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในประเทศไทย ที่นิคมอมตะนคร จ.ชลบุรี เพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในหลักสูตรการใช้หุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ (Future of Automation) และยานยนต์แห่งอนาคต (Autonomous Vehicle) เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษและจีน ใช้เวลาศึกษา 2 ปี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University) จัดการศึกษาในหลักสูตร Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในประเทศไทย ตามความในข้อ 4 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในไต้หวัน มีวิทยาเขตกลางตั้งอยู่ในนครไทเปและจัดว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในไต้หวันจากการรายงานของ QS University Rankings และติดอันดับ TOP 100 ของโลกทุกปี NTU ได้มีการจัดตั้งคณะและสาขาวิชา อาทิ คณะศิลปศาสตร์และกฎหมาย คณะวิทยาศาสตร์และการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ NTU ยังเป็นมหาวิทยาลัยลำดับหนึ่งจากการสอบแข่งขันของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วไต้หวันและมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง เช่น ประธานาธิบดีของไต้หวันเกือบทุกคนจบจากมหาวิทยาลัย NTU ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเอื้อให้ NTU เป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับในสังคมไต้หวัน

2. มหาวิทยาลัยอมตะ จะนำหลักสูตรของ NTU ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากไต้หวันเข้ามาดำเนินการจัดการศึกษาในประเทศไทย โดยสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

  • หลักสูตรที่จะเปิดสอน คือ Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ของ NTU เน้นทางด้านการใช้หุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ (Future of Automation) และยานยนต์แห่งอนาคต (Autonomous Vehicle)

  • วัตถุประสงค์ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ในพื้นที่ EEC และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)

  • แนวทางการจัดการเรียนการสอน ใช้มาตรฐานเดียวกับ NTU ที่ไต้หวัน เช่น สาขาวิชา คณาจารย์ การเข้าถึงข้อมูลทางวิจัย และชั่วโมงของอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นต้น จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและจีน ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

  • พื้นที่ดำเนินการ จะจัดตั้งในพื้นที่ของนิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี


Written by บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit ภาพ 1 และภาพ 2