(4 กรกฎาคม 2561) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามโครงการอาหารกลางวัน ณ โรงเรียนวัดเกาะ (กริ่มกำพล) อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ได้เยี่ยมชมแปลงผักแบบผสมผสานในพื้นที่ 800 ตารางเมตรของโรงเรียน โดยมีคณะครูและนักเรียนสาธิตวิธีการปลูกพร้อมเก็บเกี่ยว หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมสภาพแวดล้อมของโรงเรียน โรงอาหาร และตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวัน พร้อมทั้งร่วมรับประทานอาหารกับเด็กนักเรียน เพื่อเน้นย้ำถึงคุณภาพและโภชนาการที่ดีของอาหารที่นักเรียนได้รับประทานในแต่ละมื้อให้ครบตามหลักโภชนาการด้วยอาหารหลัก 5 หมู่
สำหรับโรงเรียนวัดเกาะ ต.หนองตะพาน จ.ระยอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรของ ต.หนองตะพาน มีพื้นที่รวม 7 ไร่ โดยมีครู 11 คน นักการภารโรง 1 คนแม่ครัว 1 คนและนักเรียน 177 คน รวมทั้งสิ้น 190 คน มี 8 ชั้นเรียน ได้แก่ ระดับอนุบาล 2-3 ชั้นละ 1 ห้องและระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ชั้นละ 1 ห้องเรียน โดยได้เข้าร่วมโครงการ “พัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง School–BIRD (Base Integrated Rural Development)” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการจาก 2 หน่วยงานคือบริษัทสยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด และมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 โดยเป็นความต้องการร่วมกันของคณะกรรมการผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน
ซึ่งโครงการมีเป้าหมายสูงสุด คือ ให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนในชุมชน และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชาธิปไตย ทักษะการใช้ชีวิตของนักเรียนและชุมชน โดยใช้โรงเรียนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนชุมชน นำไปสู่การมีส่วนร่วมการเสริมศักยภาพของชุมชนอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาภาครัฐ และลดการย้ายถิ่นฐานสู่เมืองใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงาน
ทั้งนี้ โรงเรียนได้มีการจัดตั้งโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งมุ่งเน้นให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองร่วมกันทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน พร้อมทั้งจัดทำระบบทุนหมุนเวียน ซึ่งทำให้นักเรียนได้รับความรู้ด้านโภชนาการและการเกษตรแผนใหม่และนำไปเป็นประกอบอาชีพเสริม อีกทั้งมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อสังคมในโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างรายได้ โดยการจัดทำสวนเกษตรเพื่อขจัดความยากจน และนำเทคนิคต่าง ๆ มาปฏิบัติจริงโดยมีการจำหน่ายสินค้าจากแปลงเกษตร เช่น เมล่อน มะเขือเทศราชินี ถั่วฝักยาว ฯลฯ อีกทั้งให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำธุรกิจผลิตภัณฑ์จากสวนเกษตร เช่น การทำสลัดโรล จากผักสลัดที่นักเรียนได้ปลูกและนำไปจำหน่ายและมีการจัดตั้งกองทุนเงินกู้ในโรงเรียนและชุมชน เพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยผลกำไรจากการประกอบธุรกิจจะนำไปจัดสรรเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป
โอกาสนี้ รัฐมนตรีทั้งสองท่าน และเลขาธิการ กพฐ. ได้ตรวจเยี่ยมกิจกรรมการเรียนการสอน รับฟังแนวทางบริหารจัดการศึกษา เพื่อให้โรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ในปีการศึกษานี้