ติดตามโครงการ Partnership School

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม 2561 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่โรงเรียนวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จังหวัดนครสวรรค์

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการเดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนวัดสิงห์และโรงเรียนวัดนิเวศวุฒารามในครั้งนี้ เพื่อเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจโรงเรียนทั้งสองแห่งที่ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ในระยะแรกทั่วประเทศ 50 โรงเรียน ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐ โดยรูปแบบการดำเนินงานของโรงเรียนร่วมพัฒนามุ่งเน้นความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาต่อยอดการยกระดับคุณภาพการศึกษา เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพื่อสร้างคนไทย 4.0 รองรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมโลกในอนาคต ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพราะการศึกษาไม่ใช่ของกระทรวงศึกษาธิการเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนด้วย

อีกทั้งหลักการสำคัญของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) จะต้องมีความคล่องตัวและสามารถบริหารจัดการโรงเรียน ภายใต้ความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่และชุมชน โดยมีความอิสระ 3 ส่วน คือ

  • อิสระในการออกแบบหลักสูตร  ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของเวลาเรียน ซึ่งจะทำให้เป็นโรงเรียนต้นแบบที่จะสร้างอนาคต สร้างอาชีพให้กับนักเรียน เชื่อมโยงและร่วมแก้ปัญหาของชุมชน

  • อิสระในการออกแบบจัดการเรียนการสอน  โดยเน้นการคิดวิเคราะห์ ครูต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องหมั่นตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้ฝึกคิด จากนั้นจึงใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง พานักเรียนมาเรียนของจริงในสถานที่จริง หรือสถานประกอบการ หรือชุมชน สามารถบูรณาการการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน

  • อิสระในการบริหารจัดการ โดยรูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนามีความพิเศษคือ ขึ้นตรงกับเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง มีการปลดล็อคระเบียบต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น มีคณะกรรมการสถานศึกษาที่มาจากผู้แทน 4 ฝ่ายเข้ามาช่วยบริหารจัดการ คือ ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง โดยมีผู้แทนภาคเอกชนเป็นประธานกรรมการสถานศึกษา เพื่อจะได้นำแนวคิดการทำงานแบบใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียนให้ไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จะมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนงานในด้านต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง ถือเป็นจุดเริ่มต้นสนองตอบต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ว่า “…จัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ และ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าว มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล…”

“โรงเรียนร่วมพัฒนา จึงเปรียบเสมือนหัวขบวนในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่รอบนอก ให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับโรงเรียนในเมือง หรือโรงเรียนชั้นนำในกรุงเทพฯ เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว คาดหวังว่าในอนาคตข้างหน้า โรงเรียนที่ดีมีคุณภาพจะกระจายออกไปในทุกพื้นที่มากขึ้น ส่วนจะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อทำให้โรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นสถานที่เตรียมอนาคตและเตรียมอาชีพให้ลูกหลานเยาวชน รวมทั้งเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และเป็นศูนย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว


1) โรงเรียนวัดสิงห์ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 5

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนโรงเรียนร่วมพัฒนาทั้ง 16 แห่ง ในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่มีจำกัด และขอให้ร่วมกันผลักดันและขยายผลรูปแบบการดำเนินงานของโรงเรียนร่วมพัฒนาไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย

นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในนามของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ และในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนวัดสิงห์ มีความยินดีที่จะช่วยประสานงานและบูรณาการด้านต่าง ๆ ตามแนวทางของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยจะนำหลักคิดการพัฒนาคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ 3 ประการ ของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ใช้ประกอบเป็นแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน คือ

     1) ทักษะชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม
     2) ทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กจบการศึกษาแล้วมีอาชีพติดตัว เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์อาชีพในอนาคตได้ทั้งหมด หากมีความรู้เรื่องอาชีพตั้งแต่เด็กจะเป็นผลดีกับเด็กอย่างที่สุด
     3) คุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กเป็นคนเก่งและคนดีของสังคมต่อไป ส่วนการเรียนรู้ทางวิชาการ ของโรงเรียนวัดสิงห์ก็มีความเข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ภาคเอกชน และชุมชน ที่มีความมุ่งมั่นต้องการพัฒนาโรงเรียนอย่างจริงจัง ก็จะทำให้โรงเรียนวัดสิงห์เป็นต้นแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จได้

นายเกษม เกตุดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสิงห์ กล่าวว่า โรงเรียนวัดสิงห์มีแนวทางการบริหารและการจัดการโดยใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการศึกษา Watsing Model ผ่านโครงการที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งได้นำเสนอและได้รับความร่วมมือจาก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ อาทิ

– โครงการ OTOP Junior โดยมีการตั้งชมรมและนำวัสดุ/วัตถุดิบที่มีอยู่ในบริเวณโรงเรียนทั้งป่ากล้วยและป่าไผ่ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียน และในอนาคตจะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาทำเป็นสินค้าโอท็อปของโรงเรียนเพื่อจำหน่าย เกิดการสร้างรายได้ให้นักเรียนต่อไป

– โครงการพัฒนาภูมิทัศน์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

– โครงการอ่านเถิดเด็กไทย อ่านถวายเจ้าฟ้านักอ่าน (Read Thai) โดยส่งเสริมให้เด็กใช้เวลาว่างหลังอาหารกลางวัน 15 นาที อ่านหนังสือที่มีประโยชน์ และมีครูบรรณารักษ์และครูภาษาไทยดูแลให้คำแนะนำ

– โครงการส่งเสริมอาชีพประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ เป็นโครงการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วัสดุไม้จักสานเป็นหลัก ร่วมกับผักตบชวา ใบตาล ลดการใช้พลาสติก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้นำผลงานไปประกวดในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน และเป็นตัวแทนแข่งขันในระดับชาติ

– โครงการศูนย์เรียนรู้ด้านกีฏวิทยา​ เพื่อศึกษาวงจรชีวิตของแมลง เชื่อมโยงกับวิชาชีววิทยา

– โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านกีฬาวอลเลย์บอล โดยนักเรียนโรงเรียนวัดสิงห์มีความสามารถด้านกีฬาวอลเลย์บอล และได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนแข่งขันจนได้รับรางวัลจำนวนมาก

สำหรับสิ่งที่จะขอรับการสนับสนุน เช่น พาหนะของโรงเรียนที่มีอายุการใช้งานนาน ส่งผลถึงความปลอดภัยของครูและเด็กเมื่อเดินทางไปแข่งขันกีฬาหรือร่วมกิจกรรมต่าง ๆ, การขาดแคลนสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โปรเจ็กเตอร์ เป็นต้น


2. โรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม อ.เมืองนครสวรรค์
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำโดยคุณกิติพงษ์ ลิ่วเฉลิมวงศ์ ผู้จัดการภาคกลาง และคณะผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน นักเรียน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนและร่วมมือดำเนินโครงการของโรงเรียนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่มีส่วนสำคัญช่วยสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อผลักดันและขยายผลรูปแบบการดำเนินงานของโรงเรียนร่วมพัฒนา

คุณกิติพงษ์ ลิ่วเฉลิมวงศ์ ผู้จัดการภาคกลางธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญต่อความสำเร็จในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพคือ นอกจากเด็กจะสามารถอ่านออกเขียนได้แล้ว จะต้องเข้าใจความหมายด้วย จากการประเมินผลการทดสอบ PISA ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าเด็กไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่เข้าใจความหมาย มีจำนวนมากถึง 30% ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงมีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะเวียดนามที่มีจำนวนเพียง 8% เท่านั้น ดังนั้น เมื่อเราเห็นปัญหาเหล่านี้ ก็ควรช่วยกันหาแนวทางเพื่อให้เด็กอยากเรียนหนังสือในสิ่งที่ชอบ ไม่ถูกบังคับ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ การที่ภาคเอกชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการแทนภาครัฐ  เป็นสิ่งที่หลายประเทศเคยดำเนินการมาจนประสบความสำเร็จแล้ว เช่น ประเทศชิลี ภายในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์การจัดการศึกษาที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ต้องการให้โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะชีวิตให้นักเรียน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำความสะอาดห้องน้ำ หรือพื้นที่โรงเรียน เพราะเมื่อเด็กกลับไปบ้านจะนำทักษะเหล่านี้ไปช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองได้

อีกเรื่องที่อยากฝากไปถึงโรงเรียนคือ ช่วยกันคิดแนวทางขับเคลื่อนโรงเรียนใน 5 ปีข้างหน้าว่าควรจะเป็นอย่างไร วาง Positioning ของโรงเรียนเอาไว้ เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการไปสู่เป้าหมาย

นายสุมล สุมังเกษตร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม กล่าวว่า โรงเรียนมีโครงการจุดเด่นที่คือ การแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งปลอดสารพิษตามแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง การแปรรูปฝรั่งพันธุ์กิมจู ซึ่งถือว่าเป็นพันธุ์ที่อร่อยที่สุดของโลก เพราะสภาพดินในพื้นที่เป็นดินทรายมูล เหมาะแก่การปลูกฝรั่งพันธุ์นี้ นอกจากนี้โรงเรียนยังให้นักเรียนช่วยทำน้ำสมุนไพร เห็ดแปรรูป ซึ่งโรงเรียนมีโรงเห็ดนางฟ้า การปลูกมะนาววงบ่อ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนปฏิบัติจริงจากการเรียนการสอนในพื้นที่จริงและในชุมชน


ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ มีผู้มีเกียรติเข้าร่วม อาทิ นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และคณะทำงาน, นายกิติพงษ์ ลิ่วเฉลิมวงศ์ ผู้จัดการภาคกลางธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และคณะทำงาน, นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท-นครสวรรค์, นายวีระ แข็งกสิการ รองศึกษาธิการภาค 2, นายธวัช แซ่ฮ่ำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 5, นายสมบูรณ์ ศรีวิชาสร้อย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนผู้นำชุมชน


Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit
อิทธิพล รุ่งก่อน, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร