ต้นแบบการใช้สื่อ Social Media

จังหวัดลำปาง – ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะสนทนากับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนลำปางกัลยาณี พร้อมเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ศาสตร์พระราชาจะดำรงอยู่กับลูกหลานตลอดไป และโครงการการใช้ภาษาต่างประเทศ (Diplomatic Language, ภาษาทางการทูต)” เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ณ อาคาร 100 ปี กัลยาณี โรงเรียนลำปางกัลยาณี อำเภอเมืองลำปาง

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวชื่นชมตัวแทนนักเรียนโรงเรียนลำปางกัลยาณี ที่แนะนำข้อมูลของโรงเรียนด้วยภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษ ส่วนตัวมีความภูมิใจในโรงเรียนลำปางกัลยาณี ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2458 ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 3,160 คน คำขวัญของโรงเรียนคือ “โรงเรียนเด่น นักเรียนดี กีฬาดัง” และปรัชญาของโรงเรียนคือ “การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” มีความโดดเด่นในด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยครูผู้สอนเจ้าของภาษา (Native Speaker) ซึ่งได้รับรางวัลในการแข่งขันทักษะทางภาษามากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศการแข่งขันพูดเพื่ออาชีพภาษาฝรั่งเศส ม.4-ม.6 รางวัลรองชนะเลิศการแข่งขันเขียนเรียงความภาษาจีน ระดับชั้น ม.4-ม.6 การแข่งขันทักษะวิชาการต่างประเทศ ในงานศิลปหัตกรรมนักเรียน ครั้งที่ 67 ปีการศึกษา 2560 (ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ลำปาง เขต 1) เป็นต้น

ในส่วนของความรู้ รัก สามัคคี และศาสตร์พระราชา อาทิ ความวิริยะอุตสาหะ ความซื่อตรงกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่และครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะครูซึ่งเป็นผู้อุทิศตนให้กับลูกหลานนักเรียน ด้วยอาชีพครูนั้นไม่ใช่ใครก็มาเป็นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความเสียสละอย่างสูง ลูกหลานนักเรียนจึงควรรำลึกถึงพระคุณท่านให้มาก รวมถึงฝากให้นักเรียนลําปางกัลยาณีได้ขอให้ระมัดระวังในการพูดจา ควรพูดอย่างมีเหตุผล ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นความไม่น่าเชื่อถือต่อผู้อื่น ขณะที่การใช้สื่อ Social Media ในปัจจุบันนี้ ขออย่าใช้ไปในทางอคติต่อสังคม ไม่ควรเข้าไปร่วมกับการว่ากล่าวให้ร้าย ข้อมูลอันเป็นเท็จ ทุกคนจึงจำเป็นต้องช่วยกันนำร่องเป็นต้นแบบการใช้สื่อ Social Media ที่ถูกต้องให้กับวัยรุ่นยุคปัจจุบัน และรุ่นน้องที่กำลังเติบโตขึ้นมาด้วย

ส่วนด้านการประพฤติตน การใช้ชีวิตในสังคม นักเรียนควรมีบุคคลต้นแบบที่มีคุณลักษณะที่ดีงาม อาจเป็นคนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือนักการศึกษา เพื่อนำเอามาเป็นเข็มทิศชีวิตนำทางเดินไปสู่สิ่งที่ดีงามในวันข้างหน้า ดังนั้น การรู้ รัก สามัคคี ของเยาวชนจะต้องเกิดผลเป็นรูปธรรม รู้ให้เข้าใจ รักให้เข้าถึง หากไม่เข้าใจสิ่งใดให้ปรึกษาครูหรือผู้มีประสบการณ์ อย่าหยิ่งหรือทระนงว่าตนรู้มาก ขอให้นักเรียนทุกเรียนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ละทิ้งอัตตาออกไป ประพฤติตนติดดินประหนึ่งรวงข้าวอันเปี่ยมไปด้วยเมล็ดข้าวโค้งงอลงสู่พื้นดินด้วยคุณค่าและความงดงาม

ในเรื่องการใช้ภาษาทางการทูต ม.ล.ปนัดดา ได้เน้นย้ำให้นักเรียนรู้จักการเป็นผู้ฟังที่ดี สบตาผู้พูด ทำความเข้าใจกับเรื่องที่สนทนา และอย่าพูดจาเชิงลบที่อาจทำให้คนฟังทุกใจ ท้อแท้ใจ ควรพูดจาให้กำลังใจแก่กัน ซึ่งภาษาทางการทูตนั้นจะสอนให้เราเป็นคนละมุนละม่อม สร้างมิตรภาพอันดีงาม โดยสามารถเรียนรู้ได้จากนักการทูต ระดับประเทศและระดับโลก

นอกจากนี้ ยังได้ฝากคุณครูให้มีความเมตตากรุณาต่อเด็ก จะทำให้เด็กเคารพรักครู ส่งผลให้เกิดความสำเร็จตามแนวทางศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้ อีกทั้งขอความร่วมมือจากครูและนักเรียนช่วยกันปลูกฝังเด็กเล็ก โดยนำพระราชดำรัสหรือคำสอนพระราชทานของพระองค์มาสอนให้เด็กเล็กได้รู้จักพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในความทรงจำของพวกเรา และจดจำไว้ในใจตลอดไป


อิชยา กัปปา, อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
กิตติกร แซ่หมู่, อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
11/11/2560
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร. และกลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.