ต้อนรับรัฐมนตรีกัมพูชา

รัฐมนตรีจากกัมพูชาศึกษาดูงานหลักสูตรไทย

ศึกษาธิการ – พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ H.E. Dr. Nath Buroeun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศึกษา เยาวชน และกีฬาของกัมพูชา เนื่องในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานด้านหลักสูตรการศึกษาของไทย เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม

พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ไทยและกัมพูชาได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งไทยและกัมพูชาได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้วยดีมาโดยตลอด

ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไทยมีสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาด้านอาชีวะมากขึ้น ด้วยการพยายามปรับภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาให้ดีขึ้น และทำให้ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นในการส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาต่อ ทั้งนี้ เนื่องจากการเรียนสายอาชีวศึกษาจะทำให้ผู้เรียนมีอาชีพติดตัว หางานทำได้ง่าย นอกจากนี้ ได้มีการจัดแผนการเรียนแบบทวิศึกษา คือ นักเรียนจะได้เรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา

ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ไทยกำลังปฏิรูปการศึกษา โดยได้ดำเนินการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) โดยจะมีเวลาให้นักเรียนทำกิจกรรมเพิ่มการเรียนรู้ด้วยตนเองในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. เป็นต้นไป เพื่อทำให้ “ครูมีความสุข นักเรียนมีความสุข และผู้ปกครองมีความสุข”


ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี

H.E. Dr. Nath Buroeun รมช.การศึกษา เยาวชน และกีฬาของกัมพูชา กล่าวขอบคุณไทยที่ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากกัมพูชาเป็นอย่างดี ที่ผ่านมากัมพูชาและไทยมีความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอด ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการจัดประชุมเพื่อหารือด้านต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดน

ในการมาศึกษาดูงานด้านหลักสูตรการศึกษาของไทย ระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2558 เพื่อต้องการศึกษากระบวนการปฏิรูปการศึกษาของไทย เนื่องจากไทยมีพัฒนาการด้านการศึกษาที่รวดเร็วมาก จึงน่าจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาด้านการศึกษาของกัมพูชาได้ โดยคณะผู้แทนกัมพูชามีกำหนดการเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ อาทิ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ กัมพูชาได้ไปศึกษาดูงานด้านหลักสูตรของหลายๆ ประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทการศึกษาของกัมพูชา เพื่อให้เยาวชนกัมพูชาเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการศึกษาในระดับต่างๆ


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
18/11/2558