ทปอ.
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้รัฐบาลมีเป้าหมายหลักในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคนไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง พร้อมกำหนดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมเป็นฐานเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และอื่น ๆ เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
ซึ่งต้องยอมรับว่า การพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญคือ การพัฒนากำลังคนระดับอุดมศึกษา ที่จะต้องตอบโจทย์องค์ความรู้สมัยใหม่ การคิดวิเคราะห์บนฐานวิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดองค์ความรู้สู่การศึกษา ทดลอง และวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ มาพัฒนาต่อยอดและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ
จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ทปอ. ได้จัดโครงการ “How Cambridge Berkeley Stanford do Tech Transfer” ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและด้านอื่น ๆ ตลอดจนตัวอย่างและแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สู่บุคลากรระดับอุดมศึกษาของไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้ จึงขอเชิญชวนอาจารย์มหาวิทยาลัย และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา มาร่วมศึกษาเรียนรู้ของดี ๆ ที่มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อนำไปปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอนอย่างเท่าทันต่อองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่อไป
ในส่วนของการอุดมศึกษาไทย ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยสร้างนวัตกรรมขึ้นเอง เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมสร้างคนเก่งที่มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างคนไทย 4.0 ที่ทันโลกทันเทคโนโลยี และเป็นพลเมืองที่อยู่ที่ใดก็ได้บนโลกนี้
นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษายังมีหน้าที่วิจัย และต่อยอดองค์ความรู้สู่นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งมีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากรที่มีความสามารถและศักยภาพ มีทรัพยากร/โครงสร้างพื้นฐาน เอื้อต่อการผลิตนวัตกรรม เป็นต้น แต่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่เต็มที่นัก เพราะขาดความเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังทำวิจัยเพื่อมุ่งขอตำแหน่งทางวิชาการ มากกว่าการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ จึงควรที่จะมีการปรับรูปแบบการประเมินผลงานทางวิชาการของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ด้วยการให้คุณค่าและการรับรองผลงาน “นวัตกรรม” หรือ “การวิจัยเชิงพาณิชย์” เพื่อสนับสนุนการวิจัย สร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นผลงานสำหรับประเมินความก้าวหน้าในสายงานด้วย
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็ต้องมีความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อช่วยส่งเสริมกระบวนการต่าง ๆ ในการสร้างนวัตกรรมและผลิตสินค้า อาทิ การหารือร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่เริ่มแรก, การตั้งโจทย์เพื่อคิดค้นและแก้ปัญหาตามความต้องการของพื้นที่, การสนับสนุนงบประมาณ ในการทดลองพัฒนา และผลิตนวัตกรรมเชิงพาณิชย์, การตลาด เป็นต้น เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นก้าวสำคัญ ในการร่วมกันพัฒนากำลังคน ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างจริงจัง และในส่วนของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ใหม่ ก็มีพันธกิจที่สำคัญในการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม และสนับสนุนการทำงานของสถาบันอุดมศึกษาในเรื่องของนวัตกรรมเช่นกัน
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน ทปอ. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำตัวอย่างและแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยของไทย เพื่อยกระดับประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ สู่การพัฒนากำลังคน ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ทปอ. เล็งเห็นแล้วว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทย มีความพร้อมในหลายส่วน ทั้งศักยภาพของอาจารย์ งานวิจัยที่มีความเป็นเลิศ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น เพียงแต่ต้องปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยขั้นสูง ตลอดจนร่วมมือกับภาคเอกชน และการสนับสนุนจากภาครัฐในการผลิตกำลังคนอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานระดับโลก ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพกำลังคนของเรา ผนวกกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยยกระดับการพัฒนาคุณภาพการจัดการสอน และการจัดการศึกษาด้านต่าง ๆ มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมรวดเร็วขึ้น
สำหรับโครงการ “How Cambridge Berkeley Stanford do Tech Transfer” มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 2562 ณ อนันดา แคมปัส อาคาร FYI Center โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาคธุรกิจชั้นนำของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้เข้ามาเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกทั้ง 3 แห่ง เพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันความรู้ของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ และการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อสร้างคุณค่าแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป
Photo Credit
Editor