ทิศทางพัฒนาบัณฑิตไทย

หมออุดม บรรยายพิเศษ “ทิศทางการพัฒนา นศ. เพื่อสนับสนุนการเดินหน้าประเทศไทย”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2561 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการด้านพัฒนานักศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 7 “การพัฒนานักศึกษาเพื่อสนับสนุนการเดินหน้าประเทศไทย” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษากว่า 400 คน เข้าร่วมประชุม

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จึงเป็นความท้าทายสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยงานผลิตกำลังคนที่จะออกไปเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกที่ต้องแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายเหล่านั้นได้คือ การมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี รัฐบาลจึงมีนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับ โดยสถาบันอุดมศึกษาเปรียบเสมือนตัวแปรสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีศักยภาพและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

– สถาบันอุดมศึกษาต้องมีเป้าหมายเดียวกันทั้งประเทศ
เป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษา คือเป้าหมายการตอบโจทย์ของประเทศและโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีความท้าทายตลอดเวลา รวมทั้งการยกระดับประเทศสู่ Thailand 4.0 เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัตน์ ปรับนโยบายและเส้นทางการผลิตไปสู่การเพิ่มมูลค่าของทรัพยากร และมุ่งเน้นด้านผลิตภัณฑ์และการบริการที่อาศัยองค์ความรู้ ตลอดจนเป้าหมายในการสร้างงานวิจัยที่มุ่งเป้า โดยสถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่เป็นศูนย์บ่มเพาะเพื่อสร้างนวัตกรรมการวิจัยที่ต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

นอกจากนี้ ขอให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 พร้อมทั้งปรับ Mindset ของอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เมื่อค้นพบสิ่งใหม่หรือความรู้ใหม่ ให้นำสิ่งนั้นไปให้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เพียงแค่การค้นพบเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่น รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์เท่านั้น ตลอดจนการสร้างสังคมอุดมปัญญาที่มีการเรียนรู้อยู่ตลอด และการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อให้มีความรู้เพียงพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคต

– ส่งเสริมการเรียนรู้ยุคใหม่
การเรียนรู้ยุคใหม่ คือ การเรียนและการทำงานจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน นักเรียนนักศึกษาสามารถเรียนรู้นอกสถานศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต จะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษา แต่ต้องเปิดรับประชาชนทั่วไปและคนทำงานให้เข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมในรูปแบบบทเรียนออนไลน์ (Online Courses) ซึ่งเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของเด็กยุคใหม่และบริบทที่เปลี่ยนแปลงได้ พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกที่ที่ไปอยู่ โดยต้องปรับการเรียนการสอนให้หลากหลายมากขึ้น ไม่เน้นการบรรยายเพียงอย่างเดียว จากสิ่งที่กล่าวมานี้หากสถาบันอุดมศึกษายังไม่ปรับตัวให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็อาจจะนำไปสู่การควบรวมหรือการปิดตัวของสถาบันอุดมศึกษาได้ ดังนั้น ขอให้สถาบันอุดมศึกษาตระหนักในส่วนนี้และนำไปพิจารณาเปิดหลักสูตรสายพันธุ์ใหม่ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต

– บัณฑิตในศตวรรษที่ 21 
สิ่งที่บัณฑิตหรือผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในศตวรรษที่ 21 พึงมี ประกอบด้วย
1) การรู้กว้างและรู้ลึก (T-Shaped, breadth and depth) คือการรู้ลึกในเชิงวิชาการและรู้กว้างในทักษะต่าง ๆ ที่เป็น Soft Skill อาทิ การคิดวิเคราะห์ การเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสาร คุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น
2) ส่งเสริมให้บัณฑิตเก่งในระดับโลก (Globally Talented) ไม่ใช่เก่งแค่ในประเทศไทยเท่านั้น
3) บัณฑิตที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สถานที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ ด้วยการพัฒนาชุมชนและสังคมให้เจริญขึ้น (Entrepreneurially Minded)
4) เมื่อเป็นคนเก่งมีความสามารถแล้วควรตอบแทนสังคม (Socially Contributing)
5) มีความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษ (English Proficiency Skill)
6) มีทักษะการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลอย่างถูกต้องเหมาะสม (Digital Skill)
7) มี STEM Skill กล่าวคือ มีทักษะความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เนื่องจากโลกในยุคนี้และในอนาคตจะขับเคลื่อนด้วยศาสตร์เหล่านี้เป็นส่วนมาก

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษามีแนวโน้มว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตและพัฒนากำลังคนอย่างชัดเจน อีกทั้งจะทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ของการอุดมศึกษาคล่องตัวและสะดวกมากขึ้น ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ไปสู่การผลิตและพัฒนานักศึกษาให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้วย
 
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
11/1/2561